เอเอฟพี - ไต้หวันซ้อมรับมือหากแผ่นดินใหญ่โจมตีฐานทัพอากาศจนพังพินาศ ฝึกเครื่องบินรบลงจอดรันเวย์ฉุกเฉินกลางทางหลวง พร้อมเผยโฉมเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศที่สั่งจากมะกันให้เห็นเป็นครั้งแรก
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน (17 ก.ย.) ว่า เครื่องบินขับไล่และเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศของกองทัพไต้หวัน ได้ซักซ้อมลงจอด เติมเชื้อเพลิง และขึ้นบินอีกครั้ง บนถนนทางหลวงสายหนึ่งของเกาะในวานนี้ (16 ก.ย.) โดยเป็นการจำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีฐานทัพอากาศของกองทัพถูกจีนแผ่นดินใหญ่โจมตีและยึดครองไปได้
“เราซักซ้อมโดยอิงสถานการณ์สมมติว่า ฐานทัพอากาศถูกขีปนาวุธและจรวดนำวิถีติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โจมตีจนเสียหายย่อยยับ” พลตรีหง กวงหมิง กล่าวกับนักข่าว
เครื่องบินขับไล่ จำนวน 3 ลำ ได้แก่ เอฟ-16 (F-16), มิราจ 2000-5 (Mirage 2000-5) และเอฟ-ซีเค-1เอ (F-CK-1A หรือ Indigenous Defence Fighter) ซึ่งไต้หวันผลิตขึ้นเอง ได้ซ้อมลงจอด เติมเชื้อเพลิง บรรจุจรวดมิสไซล์ และอาวุธยุทธภัณฑ์อื่นๆ ก่อนขึ้นบินจากรันเวย์ฉุกเฉินบนถนนนครเจียอื้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ
นอกจากนั้น ในวานนี้ไต้หวันยังได้เผยโฉมเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ รุ่น อี-2เค (E-2K) ซึ่งสั่งตรงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏแก่สายตาสาธารณะชนเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ขณะที่ทหารราว 1,200 นาย ก็เคลื่อนพลมาร่วมการซ้อมรบอันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สงครามที่มีชื่อเรียกว่า “Han Kuang 30” หรือเหลียนซิง 30 ในภาษาจีนกลาง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อประเมินพละกำลังและความสามารถของทัพไต้หวัน ในการป้องกันตนเองจากการรุกรานของจีน
ทั้งนี้ การซักซ้อมลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นดังเครื่องเตือนความจำ “การเป็นศัตรูกับจีน” ของไต้หวัน ที่ยังคงหลงเหลืออ้อยอิ่งให้เห็นอยู่ แม้ความสัมพันธ์ไทเป-ปักกิ่ง จะมีพัฒนาการดีขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ก็ตาม
โดยหลังจากนายหม่า อิงจิ่ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคก๊กมินตั๋ง กุมชัยชนะคราแรกในปี 2551 เขาได้ชูนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจการค้ากับแผ่นดินใหญ่อย่างแข็งขัน ตลอดจนพยายามฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำในปักกิ่ง หยั่งผลให้บรรยากาศระหว่างไต้หวัน-จีนใหญ่ เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น