เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - พิธีเปิดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ณ มหานครเทียนจิน เมื่อวันพุธ (10 ก.ย.) ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำแห่งโลกเศรษฐกิจต่างส่ายหน้าด้วยความผิดหวัง เนื่องจากนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์แก้เศรษฐกิจแดนมังกรซบเซาอย่างที่คาดให้ได้ชื่นใจ
“สภาพเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะปรากฏสัญญาณการชะลอตัวในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา” หลี่กล่าว แต่กลับไม่ได้นำเสนอแนวทางใหม่ที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ อาทิ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขับเคลื่อนอย่างเฉื่อยชา หรือปัญหาเงินทุนกระจุกตัว เป็นต้น
ทำให้เหล่าผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากต่างลุกออกจากพิธีเปิดไปกลางคัน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากยิ่ง เมื่อผู้นำรัฐบาลที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก กำลังกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีการประชุมระดับสูงเช่นนี้
“ครั้งนี้หลี่ล้มเหลวที่จะพูดถึงขั้นตอนและนโยบายอย่างละเอียดลออ ตรงกันข้ามกลับเน้นบรรดามาตรการปฏิรูป ซึ่งล้วนได้รับการตัดสินใจและกำหนดทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว” หลิว เซิ่งจวิน รองผู้อำนวยการสำนักวิชาธุรกิจระหว่างประเทศจีน-ยุโรป สถาบันการเงินนานาชาติลู่จยาจุ่ย ในมหานครเซี่ยงไฮ้ กล่าว
ขณะที่ดัชนีหุ้นฮังเส็ง (Hang Seng) ของฮ่องกง ตกลงไปร้อยละ 1.93 ในวันดังกล่าว เป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. โดยส่วนใหญ่เป็นกังวลต่อว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าที่คิด
ด้านนักสังเกตการณ์ตลาดบางส่วนมองว่า ปาฐกถาของหลี่ที่ส่งถึงกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก เป็นอีกสาเหตุที่ดัชนีหุ้นฯ ลดฮวบ โดยเฉพาะเขาได้ปัดการผ่อนคลายปริมาณสินเชื่อทิ้งไป แม้ว่าอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ทางการเงิน (M2) จะตกต่ำลงในรอบห้าเดือนเมื่อเดือน ส.ค.
หลิว เสริมว่า ไม่เห็นด้วยที่นายกฯ ให้ความสำคัญกับตัวเลขการตกงาน ที่เอามาตัดสินว่าเศรษฐกิจมีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ พร้อมเตือนว่า การคงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไว้ อาจสะสมและก่อความยุ่งยากในอนาคต
ระหว่างพิธีเปิด หลี่ตอกย้ำการจ้างงานเป็นภารกิจสำคัญ ที่จะสร้างเสถียรภาพยืนยาว โดยอัตราการตกงานยังคงอยู่ที่ราวร้อยละ 5 ในเมืองขนาดกลาง-ใหญ่ 31 แห่งทั่วประเทศตลอด 8 เดือนแรกของปี ขณะที่เกิดงานใหม่ในเขตเมืองมากกว่า 9.7 ล้านตำแหน่งในเดือน ม.ค.-ส.ค. เขยิบเข้าใกล้เป้าหมายประจำปีที่วางไว้ 10 ล้านตำแหน่งงาน
นอกจากนั้น หลี่สำทับถึงความจำเป็นในการกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ การเร่งปล่อยระบบประกันเงินฝาก และการปฏิรูปตลาดทุนและการเงินอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดอันสดใหม่อื่นใดออกมา
“ความเสี่ยงที่แท้จริงย่อมอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งปะทุมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ จากระบบธนาคารเงา (shadow banking system) อันน่าวิตก” หลิว กล่าว
ส่วนนายหม่า จวิน เศรษฐกรจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China) บอก ณ ที่ประชุมฯ ว่า การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นแหล่งความเสี่ยงเกิดผลตอบแทนเชิงลบหรือต่ำกว่าที่กำหนด (Downside risk) ในเศรษฐกิจ มีทีท่าอ่อนตัวลง
จัง เสี่ยวเฉียง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงของคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ กล่าวว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวที่ร้อยละ 7 ในระยะยาว เพราะรัฐบาลต้องการให้เกิดการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) เติบโตที่ร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบรายปี ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา