พายุฝนปลายฤดูร้อน ต้นฤดูใบไม้ร่วงของกรุงปักกิ่งเทลงมาอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด
“ปกติช่วงนี้ฝนจะไม่ตกหนักขนาดนี้นะ” มิตรชาวจีนคนหนึ่งของผมบอกระหว่างที่เราเดินฝ่าฝนเพื่อเข้าไปในอาคารก่อนเวลาหนึ่งทุ่มครึ่ง ซึ่งบัลเลต์จะเริ่มแสดง
บัลเลต์ดังกล่าวมีชื่อว่า Raise the Red Lantern (大红灯笼高高挂) ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน และกำกับการแสดงโดยผู้กำกับที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ จาง อี้โหมว ซึ่งเดิมทีสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉายตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ.1991) โดยนักแสดงนำในเรื่องดังกล่าวซึ่งถือเป็นนักแสดงคู่ขวัญกับจาง อี้โหมวจนเป็นที่จดจำและกลายเป็นตำนานจนถึงปัจจุบันก็คือ ก่ง ลี่ (巩俐)
Raise the Red Lantern ถูกดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นชื่อ ชีเชี่ยเฉิงฉวิน (妻妾成群) หรือ Wives and Concubines ประพันธ์โดย ซู ถง (苏童) พื้นหลังเป็นเรื่องราวสังคมจีนในช่วงทศวรรษที่ 1920 ในยุคสาธารณรัฐซึ่งมีการสู้รบของบรรดาขุนศึกในแต่ละภูมิภาคเพื่อแย่งชิงอำนาจในการปกครอง ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดชีวิตของนักศึกษาสาววัย 19 นามซ่ง เหลียน ที่ต้องตบแต่งให้กับเศรษฐีเนื่องจากบิดาเสียชีวิตกระทันหัน ทำให้เธอต้องออกจากโรงเรียนฝรั่งเพื่อมาเป็นภรรยาคนที่ 4 ของท่านเศรษฐี และนี่เองคือที่มาของชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ในภาษาไทยคือ “ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง”
นอกจากนี้ บทประพันธ์ Wives and Concubines ต้นฉบับของซู ถง ชาวไทยยังน่าจะคุ้นเคยกันดีจากนิยายเรื่อง “มงกุฎดอกส้ม” ประพันธ์โดย อ.ถ่ายเถา สุจริตกุล ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์ของซู ถง เพื่อที่จะนำมาดัดแปลงเป็นนวนิยายที่ใช้พื้นเพของบ้านเรา ก่อนที่จะถูกนำมาสร้างต่อเป็นละครโทรทัศน์ในชื่อ “มงกุฎดอกส้ม” และออกฉายทางช่อง 7 ในปี 2539 และถูกทำซ้ำอีกครั้งในปี 2553 เพื่อฉายทางช่อง 3 (จากนั้น อ.ถ่ายเถา ได้เขียนภาคต่อของมงกุฎดอกส้ม นั่นคือเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ซึ่งภาคละครโด่งดังอย่างมากในปี 2554)
.................................
โรงละครแห่งชาติจีน (The National Centre for the Performing Arts; 国家大剧院) เรืองแสงขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศย่ำค่ำของกรุงปักกิ่ง ฝนที่ตกหนักทำให้พื้นที่โดยรอบกลายเป็นแอ่งน้ำ ตัดกับสระน้ำและอาคารรูปไข่ครึ่งใบที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือน้ำ
โรงละครแห่งนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่สะท้อนให้ถึงการก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ของประเทศจีน ตั้งอยู่กลางมหานครที่ว่ากันว่าเป็นศูนย์กลางของโลกในศตวรรษที่ 21 ด้านหลังมหาศาลาประชาชน ใกล้กับจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยระหว่างที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงปักกิ่ง อาคารนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเมื่อสร้างเสร็จในปี 2550 (ค.ศ.2007) ผมก็เดินทางกลับมาเมืองไทยแล้ว
ชาวจีนเรียกขานโรงละครอันสวยสดงดงามแห่งนี้อย่างภาคภูมิใจ ในชื่อเล่นว่า “ไข่ยักษ์ (巨蛋)” แม้มันจะถูกรังสรรค์ด้วยฝีมือของสถาปนิกชาวฝรั่งเศสนาม Paul Andreu ก็ตาม แต่อย่างน้อยแรงงานทั้งหมดที่รังสรรค์มันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็เป็นคนจีน
แม้บัลเลต์เรื่องนี้จะมีการจัดแสดงครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2544 (ค.ศ.2001) และเคยเดินสายแสดงไปทั่วประเทศจีนและหลายประเทศทั่วโลกแล้วในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา แต่คราวนี้ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งของผมที่ได้ชมบัลเลต์ที่ถือว่าเป็น “บัลเลต์ที่ดีที่สุดของจีนยุคใหม่” ในโรงละครแห่งชาติ กรุงปักกิ่ง เพราะฤดูร้อนปีนี้ 2557 (ค.ศ.2014) บัลเลต์เรื่องนี้มีการจัดแสดงเพียงแค่ 2 คืน คือ 30 และ 31 สิงหาคมเท่านั้น
บัลเลต์ Raise the Red Lantern แสดงโดย กลุ่มนักแสดงบัลเลต์แห่งชาติจีน (National Ballet of China; 中央芭蕾舞团) ซึ่งหมู่สมาชิกได้รับการศึกษามาจากโรงเรียนสอนเต้นรำของจีนโดยเฉพาะ และถือว่าเป็นกลุ่มนักบัลเลต์ที่ดีที่สุดของจีน นอกจากนี้จุดเด่นของบัลเลต์เรื่องนี้ ยังประกอบไปด้วยการผสมผสานระหว่างการเต้นบัลเลต์ของตะวันตก และอุปรากรจีนของตะวันออก ขณะที่เพลงและเครื่องดนตรีที่ใช้ ฉาก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการผสมผสานเองวัฒนธรรมของตะวันตกกับตะวันออกได้อย่างกลมกลืน
สำหรับ เนื้อหาของ Raise the Red Lantern ฉบับบัลเลต์ผสมงิ้วนี้มีความแตกต่างไปจากภาคนวนิยายและภาพยนตร์หลายส่วนด้วยกัน กล่าวคือ ในนวนิยายและภาพยนตร์ท่านเศรษฐีจะมีภรรยา 4 คน โดยนางเอกเป็นคนที่ 4 ส่วนในภาคบัลเลต์นั้นท่านเศรษฐีจะมีภรรยา 3 คน โดยตัวเอกเป็นภรรยาคนที่ 3 ขณะที่เนื้อหาก็มีการดัดแปลงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาผ่านท่วงท่าของการเต้นระบำ รวมถึงท่วงทำนองของเสียงเพลง
กระนั้น แม้วิธีการถ่ายทอดจะเปลี่ยนแปลงไปจากหนังสือ เป็นภาพยนตร์ เป็นละคร หรือเป็นบัลเลต์ ทว่า หัวใจหลัก เนื้อใหญ่ใจความของเรื่องราวยังคงอยู่ครบถ้วน อีกทั้งยังทรงพลังอย่างยิ่ง
กล่าวคือ Raise the Red Lantern ใช้ “โคมแดง (大红灯笼)” เป็นสัญลักษณ์ของสังคมจีนในยุคศักดินาคือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่แม้ประเทศจีนจะหลุดพ้นจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐแล้ว แต่สภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนยังคงมิเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งนั่นเองเป็นต้นตอของเรื่องราวโศกนาฎกรรมของหญิงสาวและชายหนุ่ม ที่ชีวิตยังคงต้องถูกผูกติดอยู่กับความคร่ำครึและอยุติธรรม
กระนั้น ผมเห็นว่าการตีความ “โคมแดง” ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึง สังคม วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติ เก่าๆ เท่านั้น แต่ยังอาจจะหมายถึงการลุ่มหลงในกิเลส ตัณหา รวมถึงกับดักแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ ต่างๆ ด้วย
... ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็แล้วแต่ความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคนด้วยว่าจะสามารถแทรกแหวก ผ่านเปลือกนอกแห่งความสวยงามของระบำและเสียงเพลงของบัลเลต์ เข้าไปหาข้อคิด และคติเตือนใจตนเองได้มากน้อยแค่ไหนด้วย
ชมตัวอย่างบัลเลต์ Raise the Red Lantern จากยูทิวบ์