เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ / เอเอฟพี - ในบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์เยอรมันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทะไลลามะองค์ปัจจุบันได้ตรัสซ้ำอีกครั้งถึงเรื่องอนาคตของตำแหน่งทะไลลามะ และครั้งนี้มีความชัดเจนกว่าครั้งก่อนของตำแหน่งทะไลลามะ และครั้งนี้มีความชัดเจนกว่าครั้งก่อน
“เรามีทะไลลามะมานานเกือบ 5 ศตวรรษแล้ว และทะไลลามะองค์ที่ 14 ตอนนี้ก็เป็นที่นิยมรู้จักของผู้คนอย่างมาก ให้เราจบกันที่ทะไลลามะ ซึ่งมีผู้คนนิยมกันเถอะ” ทะไลลามะองคที่ 14 ตรัสกับนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Welt am Sonntag ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 ก.ย. 2557 ระหว่างเสด็จเยือนเมืองฮัมบูร์ก เพื่อแสดงปาฐกถา และพบปะนักวิชาการ ในการเสด็จเยือนเยอรมนีเป็นครั้งที่ 38 ของพระองค์
“ ทะไลลามะ” เป็นตำแหน่งประมุขคณะสงฆ์ในศาสนาพุทธนิกายมหายานทิเบต และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับทะไลลามะ ซึ่งมีพระนามว่า เทนซิน เกียตโซ ผู้นำองค์ปัจจุบันนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวทิเบต ที่กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้นจากรัฐบาลจีน ซึ่งมีการแต่งตั้งปันเชนลามะ องค์ที่ 11 อันเป็นตำแหน่งรองจากตำแหน่งทะไลลามะเมื่อปี 2538 เสมือนเป็นการหักหน้ารัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น และการประกาศอำนาจการปกครองเหนือชาวทิเบตทั้งปวง
ในเมื่อเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญขนาดนี้ เหตุผลใดท่านจึงระบุว่า ไม่ควรมีผู้ดำรงตำแหน่งทะไลลามะสืบต่อจากพระองค์
“ ถ้าได้ทะไลลามะ ที่อ่อนแอแล้ว ก็จะทำให้ทะไลลามะองค์นี้ขายขี้หน้าเท่านั้นเองน่ะซิ ” ท่านอธิบาย แล้วทรงพระสรวล
องค์ทะไลลามะ พระชันษา 79 ปี ทรงระบุว่า ศาสนาพุทธทิเบตไม่ยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มีโครงสร้างองค์กรที่ดีมาก ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และนักวิชาการ ที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างสูง
นอกจากนั้น พระองค์ตรัสด้วยว่า ตำแหน่งผู้นำจิตวิญญาณของพระองค์จะสิ้นสุดไปพร้อมๆ เมื่อท่านสิ้นพระชนม์
อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์นี้กำลังเกิดข้อสงสัยกันเกี่ยวกับความถูกต้องตรงความหมายในการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งโฆษกของพระองค์ยังมิได้ออกมาชี้แจง
ขณะที่นายโรเบิร์ต บาร์เน็ตต์ ผู้อำนวยการโครงการทิเบตสมัยใหม่ศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียมองว่า ทะไลลามะทรงมีบทบาททั้งในด้านศาสนาและการเมือง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องแยกบทบาททั้งสองออกจากกันเสียก่อน และในบทสัมภาษณ์นี้ พระองค์อาจหมายถึงว่า ทะไลลามะจะไม่กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกแล้วก็เป็นได้
ทั้งนี้ จีนได้เข้ามาปกครองทิเบตมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2494 ( ค.ศ. 1951) ภายหลังการส่งกองทัพรุกรานทิเบตได้ 1 ปี
จากนั้น เมื่อชาวทิเบตประสบความล้มเหลวในการการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนในปีพ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) ทะไลลามะองค์ปัจจุบันจึงเสด็จรอนแรมข้ามเทือกเขาหิมาลัย เข้ามาลี้ภัยในอินเดีย และทรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในเมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ
หน้าที่ของทะไลลามะแห่งทิเบตนั้น นอกจากจะทรงเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณแล้ว ยังต้องทำหน้าที่บริหารปกครองชาวทิเบต ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมือง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่พ.ศ. 2185 (ค.ศ 1642)
ต่อมา องค์ทะไลลามะ ซึ่งทรงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีพ.ศ.2532 ได้ทรงสละตำแหน่งผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตในเดือนพ.ค. 2554 เพื่อมีบทบาทด้านจิตวิญญาณแต่เพียงอย่างเดียว โดยได้ทรงเพิ่มบทบาทของนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นให้เข้มแข็งกว่าเดิม และยังทรงมีตำแหน่งประมุขในเชิงสัญลักษณ์ของรัฐบาลอยู่
ในปีเดียวกันนั้น พระองค์ยังทรงระบุด้วยว่า มีเพียงพระองค์และผู้มีอำนาจในฝ่ายของพระองค์เท่านั้นที่จะเป็นผู้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งทะไลลามะองค์ต่อไป ไม่ใช่รัฐบาลจีน และยังไม่ตัดสินพระทัยว่าควรมีผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์หรือไม่
“ เมื่อฉันอายุสัก 90 ปี ฉันจะปรึกษากับลามะชั้นผู้ใหญ่ของศาสนาพุทธทิเบต ประชาชนทิเบต และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับถือศาสนาพุทธทิเบต และประเมินอีกครั้งว่า ควรมีสถาบันทะไลลามะต่อไปหรือไม่” ท่านตรัสในตอนนั้น
ในการประทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับดังกล่าว เมื่อนักข่าวทูลถามว่า จะทรงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกนานเท่าใด
“พวกหมอบอกว่า ฉันอาจมีอายุถึงหนึ่งร้อยปี แต่ในนิมิตของฉันนั้น ฉันจะตายเมื่ออายุ 113 ปี” ท่านตอบ
" ฉันตั้งความหวังและอธิษฐานขอให้ได้กลับมาเกิดในโลกนี้อีกตราบใดที่สรรพสัตว์ยังคงมีความทุกข์ ฉันมิได้หมายถึงการกลับมาในร่างกายเดียวกันนี้ แต่ในจิตและวิญญาณดวงเดียวกัน”
เมื่อผู้สื่อข่าวทูลถามอีกว่า ท่านขอให้ได้กลับไปทิเบตด้วยหรือไม่
“ ใช่ ฉันเชื่อมั่นในเรื่องนั้น จีนมิได้อยู่เพียงลำพังอีกต่อไปแล้ว จีนต้องเดินไปตามกระแสของโลกไปสู่สังคมแห่งประชาธิปไตย”
นี่คือคำตอบของทะไลลามะองค์ที่ 14 ผู้ซึ่งอาจไม่มีทะไลลามะองค์ที่ 15 มาสืบทอดตำแหน่งในกาลข้างหน้าอีกแล้ว