xs
xsm
sm
md
lg

เซี่ยงไฮ้เตรียมเปิดศูนย์รังสีบำบัดทันสมัยที่สุด รักษามะเร็งแบบไม่เจ็บปวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- เซี่ยงไฮ้เตรียมเปิดศูนย์รังสีรักษาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่รักษามะเร็ง ราคาแพงหูฉี่ แต่ไม่เจ็บ หวังขจัดข้อเสียของการฉายแสงแบบเก่า
รังสีแห่งความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งในเซี่ยงไฮ้ (ภาพ: รอยเตอร์ส)
เซี่ยงไฮ้เตรียมเปิดศูนย์โปรตอนและอิออนหนักแห่งเซี่ยงไฮ้ (shanghai Proton and Heavy Ion Center) เทคโนโลยีการฉายแสงที่ทันสมัยที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แห่ง แค่ในญี่ปุ่นและเยอรมนีเท่านั้น

นายแพทย์เจียง กั๋วเหลียง ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านเทคโนโลยีของศูนย์ กล่าวว่า การใช้โปรตอนและไอออนหนักถือเป็นการใช้รังสีรักษา (การฉายแสง) ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก

ทั้งนี้ การบำบัดด้วยการฉายแสงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนี้ ช่วยให้การรักษามีประสิทธิผลมากกว่าการฉายแสงแบบเดิม ใช้ระยะเวลาสั้นในการบำบัดรักษาโรค และไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด

“มันให้ผลดีกว่าการฉายแสงแบบเดิมที่ใช้ไอออนเบา” นายแพทย์เจียง กล่าว “นอกจากนี้ การบำบัดด้วยโปรตอนและไอออนหนักยังใช้ได้กับคนไข้ที่ไม่เหมาะกับการฉายแสงแบบเดิม หรือรับการรักษาแบบเดิมแล้วไม่เป็นผล”

ด้านนายแพทย์อูเกน ฮัก ประธานกลุ่มความร่วมมือในการรักษาด้วยอนุภาค (Particle Therapy Cooperative Group) กล่าวว่า “การรักษาจะได้ผลมากขึ้น เพราะมีความแม่นยำในการขจัดก้อนเนื้อร้าย ทำให้เซลล์ปกติรอบๆได้รับผลกระทบจากรังสีน้อย ผลข้างเคียงจึงน้อย” นายฮัก กล่าว

นายฮัก ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การรักษาด้วยวิธีนี้ “ใช้ได้ดี” ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะมะเร็งที่ลำคอ สมอง ต่อมลูกหมาก กระดูกสันหลัง และปอด

นายแพทย์เจียง กล่าวว่าโรงพยาบาลคัดเลือกผู้ป่วยรายแรกอย่างรอบคอบ “เรามีหมอที่จบจากต่างประเทศ และมีผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีและญี่ปุ่นคอยช่วยเหลือเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น” “และเราจะส่งรายงานการประเมินผลทางคลินิคให้ทางองค์การอาหารและยาพิจารณาอนุมติ จากนั้นก็จะเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ”

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เจียงยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาแบบนี้ค่อนข้างสูง ในญี่ปุ่น ราคาอยู่ที่ประมาณ 912,000 บาท ส่วนในอเมริกาประมาณ 2,560,000 บาท

“ยังไม่มีการกำหนดราคาในเซี่ยงไฮ้ แน่นอนว่ามันคงไม่ถูกแน่ และเป็นไปได้ว่าจะไม่อยู่ในแผนประกันสุขภาพ” นายแพทย์เจียงกล่าว

ในขณะที่นายแพทย์ฮัค เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยอนุภาคนี้ อาจลดลงอีกเมื่อมีการเปิดศูนย์ฯมากขึ้นตามที่ต่างๆในโลก โดยค่าใช้จ่ายฯในตอนนี้ลดลงเป็น 1 ใน 3 เทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ผลได้อื่นๆจากการรักษาแบบนี้ก็คือ คนไข้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวันเหมือนกับการฉายแสงแบบเดิม บางคนฉายแสงเสร็จก็กลับไปทำงานต่อ เป็นการลดต้นทุนค่าเสียเวลาให้กับคนไข้ได้

สำหรับโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 230 เตียง ในเขตผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ ได้รับงบฯสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลท้องถิ่น ขณะนี้รัฐบาลยังต้องจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอุปกรณ์เครื่องมือเป็นอันดับแรก ในปี 2555 เลขาธิการพรรคฯประจำเซี่ยงไฮ้นาย หัน เจิ้ง ได้นำคณะดูงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์รังสีรักษาแห่งญี่ปุ่น และตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลใหม่เมื่อเดือนมิ.ย.

ในแต่ละปีเซี่ยงไฮ้มีคนไข้มะเร็งเข้ารับการฉายแสงประมาณ 10,000 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยรายใหม่อีกปีละ 50,000 ราย และเสียชีวิตด้วยมะเร็งมากกว่า 30,000 รายต่อปี

อย่างไรก็ดี นายแพทย์อี่ว์ เหวินปิน ศัลยแพทย์แผนกศีรษะและลำคอจากโรงพยาบาลมะเร็งในปักกิ่ง ออกมาเปิดเผยว่าความคิดเรื่องการใช้โปรตอนและไอออนหนักเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ที่ยังไม่ใช้กันแพร่หลายเป็นเพราะราคาสูง ส่วนเทคโนโลยีก็ยังไม่เสถียรพอที่จะใช้กันในวงกว้าง และยังไม่มีหลักแนะแนวการรักษา

“โดยพื้นฐานแล้ว การบำบัดประเภทนี้ยังอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิกและยังต้องพัฒนาอีกมาก” นายแพทย์ยู่ กล่าว “ผมมั่นใจว่า คนไข้จะหลั่งไหลกันไปโรงพยาบาลนี้ แต่ก็จะต้องเด้งกลับมาเพราะจ่ายค่ารักษาไม่ไหว หรือ กลัวเป็นหนูทดลอง”

กำลังโหลดความคิดเห็น