xs
xsm
sm
md
lg

จีนแพ้อุทธรณ์จำกัดแร่หายาก ละเมิดระเบียบการค้าโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานกำลังทำงาน ในเขตเหมืองแร่ธาตุหายาก ที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางภาคเหนือของจีน (แฟ้มภาพวันที่ 6 ก.ค. 2553 – เอพี)
เอเจนซี - องค์การการค้าโลก ไม่รับฟังการอุทธรณ์จีนคำตัดสิน ขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ห้ามจีนจำกัดโควต้าการส่งออกสินแร่หายาก ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

สื่อต่างประเทศรายงาน (8 ส.ค.) ว่าองค์การการค้าโลกไม่รับฟังการอุทธรณ์คำตัดสินขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เดิม ที่ห้ามจีนจำกัดโควต้าการส่งออกสินแร่หายาก ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยระบุว่า จีนไม่ได้แสดงเหตุผลเพียงพอ ในการจำกัดโควต้าการส่งออกสินแร่เหล่านี้

"โดยอาศัยอำนาจตามมาตรการที่เป็นธรรม จีนยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโควต้าการส่งออกของจีนที่นำไปใช้กับรูปแบบต่างๆ ของธาตุหายากทังสเตนและโมลิบดีนัม" องค์การการค้าโลกกล่าว

กระทรวงพาณิชย์จีน แถลงว่า เวลานี้จีนคงต้องระมัดระวังในการประเมินการจัดการแร่หายากของตน และเสริมสร้างกฎระเบียบของทรัพยากร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบองค์การการค้าโลก

นายหลี่ เฉิงกัง ผู้อำนวยการของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่าไม่ประหลาดใจกับผลตัดสินการพิจารณาคดี แต่ยืนยันว่าวัตถุประสงค์ของจีนในการจำกัดโควต้าฯ คือการปกป้องสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่อาจหมดไปอย่างรวดเร็ว

"การพิจารณาคดีเรื่องนี้อาจจะไม่เป็นผลเสียในระยะยาว หากมีบรรทัดฐานสามารถช่วยเพิ่มกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพในการส่งออกของทรัพยากร" หลี่กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศจีนอุดมไปด้วยธาตุหายากมหาศาล มีสัดส่วนมากกว่าร้อย 90 ของธาตุหายากในโลก โดยธาตุเหล่านี้นี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในส่วนประกอบอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ทั้งในด้านป้องกันประเทศและอุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือทันสมัยต่างๆ โดยในเดือนมีนาคม 2555 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก กรณีจีนจำกัดการส่งออกแร่หายาก ละเมิดกฎระเบียบองค์การการค้าโลก และการจำกัดโควต้าของจีนยังส่งผลให้ราคาแร่หายากยังสูงขึ้นอย่างมาก

เฟิ่ง จวิ่น นักวิเคราะห์ประจำศูนย์ให้คำปรึกษาองค์การการค้าโลก กล่าวว่า "ข้อจำกัด การส่งออกในวัสดุเหล่านี้ ควรจะบังคับเข้มงวดในการผลิตมากกว่าการส่งออก การพิจารณาคดีจะช่วยในการขจัดอุปสรรคการกีดกันการค้า และปล่อยให้ระบบการตลาดมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากร"

ด้านเฉิน จางเหิง รองเลขาธิการทั่วไป สมาคมอุตสาหกรรมสินแร่ของจีน กล่าวว่าคำตัดสินนี้ "ไม่เป็นผลดี" สำหรับอุตสาหกรรมฯ และยังอาจจะเพิ่มความท้าทายในการรักษาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลโดยตรงจากการผลิตแบบมือใครยาวขุดได้ขุดเอา และการแข่งขันที่รุนแรงทั่วโลก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ แสดงความเห็นว่า นโยบายของจีนในเรื่องธาตุหายากนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการทหาร และจีนก็ตระหนักว่าโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องการธาตุหายากมาก ซึ่งทำให้จีนไม่ปลอดภัย หากไม่สามารถควบคุมทรัพยากรสำคัญนี้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น