เอพี - องค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิ้ลยูทีโอชี้ขาดจีนละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศด้วยการจำกัดการส่งออกธาตุหายาก (rare earths) 17 ชนิด และแร่อีก 2 ชนิด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเทคโนโลยี่ขั้นสูง
หลังจากการยื่นร้องเรียนของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรืออียู และญี่ปุ่น คณะกรรมการระงับข้อพิพาทของดับเบิ้ลยูทีโอพบว่า ระเบียบข้อบังคับของจีนได้ละเมิดข้อผูกพัน ที่จีนให้ไว้กับดับเบิ้ลยูทีโอ เนื่องจากจีนไม่สามารถชี้แจงระเบียบข้อบังคับนั้นได้อย่างสมเหตุผล
นายไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุในคำร้องเรียนว่า การตัดสินใจของจีนที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมของตนเอง และกีดกันบริษัทของสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯ ต้องซื้อธาตุหายากแพงกว่าที่บริษัทคู่แข่งจากจีนซื้อถึง 3 เท่า
ทั้งนี้ ธาตุหายาก 17 ชนิดนำมาใช้ในการผลิตสินค้า เช่นรถยนต์ไฮบริด อาวุธยุทโธปกรณ์ ทีวีจอแบน โทรศัพท์มือถือ หลอดไฟไอปรอท และเลนกล้องถ่ายรูป
จีนผลิตธาตุหายากมากกว่าร้อยละ 90 ของการผลิตในโลก แม้จีนมีแหล่งธาตุหายากเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นก็ตาม โดยในปี 2552 จีนได้สร้างความวิตกกังวลแก่บริษัทต่างชาติด้วยการประกาศจำกัดการส่งออกธาตุหายาก เพื่อพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ของจีนยังแสดงความหวังว่า บริษัทต่างชาติ ซึ่งใช้ธาตุหายากจะย้ายการผลิตมายังจีน และถ่ายทอดเทคโนโลยี่แก่หุ้นส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการของดับเบิ้ลยูทีโอระบุว่า ในการค้าทรัพยากรธรรมชาติของชาติหนึ่งนั้น เมื่อสกัดแร่และนำมาจำหน่ายในตลาดแล้วจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของดับเบิ้ลยูทีโอ ด้านสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่นทักท้วงในการยื่นร้องเรียนว่า การจำกัดการส่งออกของจีนเป็นอุบาย เพื่อเพิ่มราคาธาตุหายากในตลาดโลกให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ราคาสำหรับผู้ผลิตชาวจีนถูกลง
รายงานว่าด้วยระเบียบข้อบังคับในการส่งออกของจีน ซึ่งรวมทั้งภาษีและโควต้าการส่งออกฉบับนี้อาจได้รับการลงมติเห็นชอบ หรือยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วัน โดยหากได้รับการเห็นชอบ และจีนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของดับเบิ้ลยูทีโอแล้ว สหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่นจะมีสิทธิ์ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีนต่อไป