xs
xsm
sm
md
lg

25 ปี เทียนอันเหมิน ประตูแห่งสวรรค์ ต้องห้าม หรือต้องก้าวข้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนจีนชุมนุมประท้วงรอบ “อนุสาวรีย์เทพีแห่งเสรีภาพ” รูปปั้นจำลองจากเทพีเสรีภาพในนิวยอร์ก ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 30 พ.ค. 1989 แม้รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในปักกิ่งแล้วก็ตาม (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
เอเจนซี - เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา คือวาระครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ค.ศ. 1989 (15 เมษายน - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2532) ซึ่งจบลงด้วยการถูกปราบปรามอย่างนองเลือด และยังคงเป็นหน้าประวัติศาสตร์ดำมืดของจีนยุคใหม่ ผู้เชี่ยวชาญฯ เชื่อว่า การยอมรับความจริงย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ขณะที่คนหนุ่มสาวรุ่นเกิดหลังเหตุการณ์นี้ ก็มองการประท้วงต่างจากคนรุ่นก่อนแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนั้น สื่อต่างประเทศฯ หลายแห่ง รายงานการประท้วงโดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชนนับแสน ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ตรงกัน โดยแถลงการณ์ของคณะมุขมนตรี ระบุ (6 มิ.ย. 1989) เผยจำนวนผู้เสียชีวิต น้อยกว่า 300 คน รวมนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง 23 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ ได้แก่ ทหาร 5,000 นาย, พลเรือน 2,000 คน ขณะที่สหภาพนักศึกษาอิสระแห่งปักกิ่ง (Beijing Independent Student Union) ระบุ (5 มิ.ย. 1989) มีผู้เสียชีวิต 4,000 คน ไม่ระบุจำนวนผู้บาดเจ็บ สำนักข่าวเอพี ระบุ (5 มิ.ย.1989) ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 คน ไม่ระบุจำนวนผู้บาดเจ็บ สื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ระบุ (6 มิ.ย.1989) ผู้เสียชีวิต 1,400 คน, บาดเจ็บ 10,000 คน

ดร.หวัง จวิ่นเถา ซึ่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารเศรษฐกิจในกรุงปักกิ่งในช่วงเหตุการณ์ประท้วงเทียนอันเหมิน 25 ปีก่อน กล่าวว่า การปราบประชาชนครั้งนั้น ส่งผลเสียมากมาย หยุดกระบวนการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชน และรวบอำนาจไว้ในกลุ่มเผด็จการ โดยก่อนหน้าเหตุการณ์นั้น ประชาชนต่างต้องการเรียกร้องให้ปราบคอร์รัปชั่น มากกว่าสิทธิเสรีภาพอื่นๆ เพราะการครองอำนาจของเจ้าหน้าที่ เป็นไปในทางประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้นำที่นับวันจะยิ่งเอารัดเอาเปรียบประชาชน

หวัง ซึ่งเคยถูกจำคุกในข้อหากบฏ และปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีน และเป็นผู้ตัดสินใจหยุดสิ่งที่เรียกว่า “การลุกฮือที่เป็นปฏิกิริยาต่อการปฏิวัติ” ต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ มองข้ามการใช้อำนาจปราบปราม กำจัดพวกทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งแม้เศรษฐกิจพัฒนาก้าวไกล แต่กลับทำให้เกิดภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา และช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ก้าวห่างไกลเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิง พลาดปล่อยปละไป

อย่างไรก็ตาม เติ้ง เสี่ยวผิง มุ่งเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจการตลาดอย่างต่อเนื่อง จนพลิกแผ่นดินจากแร้นแค้น อ่อนแอ ไร้พิกัดบนแผนที่มหาอำนาจฯ เป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกได้ในที่สุด ทว่าการทุจริตยังคงมีอยู่ตลอดมา เพราะระบอบเผด็จการย่อมปิดหู ปิดตาการตรวจสอบฯ จากทุกฝ่าย ทุกวันนี้เมื่อมองจากภายนอกจีนอาจจะเป็นชาติร่ำรวย แต่ความเป็นจริงจีนเป็นชาติหนึ่งที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชาชนรวย-จนมากที่สุดในโลก อันสะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคม

องค์การนิรโทษกรรมสากล รายงานว่า ก่อนหน้าวันครบรอบ 25 ปีเทียนอันเหมินไม่กี่วัน บรรดานักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย และนักวิชาการ รวมมากกว่า 30 คน ถูกรัฐบาลกักตัว จับกุม และจำกัดเสรีภาพให้อยู่แต่ในบ้านพักฯ
ชายนิรนามยืนประจัญบานกับขบวนรถถังบนถนนฉังอัน ชื่อถนนที่มีความหมายว่า “สันติภาพนิรันดร” เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 1989 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า บรรดาผู้นำจีนยุคนี้ ไม่ต้องการจะแตะบาดแผล 4 มิถุนายนฯ นี้อีก แต่นักวิเคราะห์กลับมองตรงข้ามว่า หากผู้นำรุ่นนี้ ยอมให้มีการชำระประวัติศาสตร์ฯ ครั้งนั้น นั่นอาจจะช่วยหนุนอำนาจทางการเมืองของพวกเขาด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งปี ค.ศ. 1981 ที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยประกาศยอมรับว่า ประธานเหมาเจ๋อตง ได้ทำผิดพลาดในการปฏิวัติวัฒนธรรมฯ กลับไปรื้อฟื้นอารยธรรมอันดีของจีนในอดีตคืนมาใหม่ ซึ่งทำให้พรรคฯ ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

กรณีของเติ้งเสี่ยวผิงก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้บรรดานักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า การจะก้าวพ้นออกมาจากเงาผิดพลาดของเติ้งเสี่ยวผิงได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือประเมินสิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงทำอย่างตรงไปตรงมา อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวว่า ถ้าผู้นำไม่กล้าแอ่นอกยอมรับความผิดพลาดอย่างจริงใจ ไม่กล้าบอกความจริงเกี่ยวกับการปราบประชาชนฯ การให้อภัยก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และเมื่อไม่มีการอภัยต่อกัน ย่อมไม่มีอนาคตร่วมกัน
เจ้า จื่อหยัง เลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์ (กลาง) กำลังพูดกับนักศึกษาที่อดอาหารประท้วงในเช้าวันที่ 19 พ.ค.1989 จากเอกสารของกลุ่มสิทธิมนุษย์ชนในฮ่องกงเผยในปี 2001 ระบุว่า เจ้าพยายามห้ามการนำกองกำลังเข้าปราบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิ.ย. แต่ก็ไม่สำเร็จ (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
หลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินผ่านพ้นไป 5 วัน ผู้นำสูงสุด เติ้ง เสี่ยวผิง ปรากฏตัวต่อสาธารณะผ่านโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 1989 (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
อนาคตจีน คนรุ่นใหม่ หนุ่มสาวเธอจงก้าวรุดไป
สำหรับอนาคตจีน ที่ฝากไว้กับคนหนุ่มสาวรุ่นหลังเทียนอันเหมินนี้ โกลบอล ไทม์ส รายงาน (4 พ.ค.) ว่า ประชาชนจีนที่เกิดหลังยุคเทียนอันเหมิน มีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างจากคนรุ่นเทียนอันเหมิน ซึ่งคนต่างรุ่นฯ อาจแขวนป้าย เด็กรุ่นทศวรรษ 90 นี้ ว่าเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนเองเป็นหลัก เกียจคร้าน ไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เหมารวมว่าเป็นพวกไม่สนใจการบ้านการเมือง ขณะที่ โธมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์นิวยอร์กไทม์ส นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ เรียกคนหนุ่มสาว ซึ่งออกไปรวมตัวประท้วงต้านรัฐบาลตามจตุรัสฯ ในเมืองใหญ่ ทั้ง กรุงไคโร กรุงเคียฟ อิสตันบูล เตหะราน ว่าเป็น 'ชาวจตุรัสฯ' (Square People) แต่คำนี้ใช้ไม่ได้กับ คนหนุ่มสาวจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะพวกเขาไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นมา ไม่มีประสบการณ์เลวร้ายทางการถูกปกครองกดขี่ฯ แบบคนรุ่นพ่อ รุ่นปู่ฯ ตรงกันข้าม กลับโตมาพบเห็นคือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น โลกทัศน์ ทัศนคติทางการเมืองเขาจึงแตกต่างฯ

เฉิน เซิงหลั่ว ศาสตราจารย์ ภาควิชาเยาวชนศึกษา จากมหาวิทยาลัยไชนา ยูธ (Chinese Youth University of Political Studies) กล่าวกับ โกลบอลไทม์ส ว่า เด็กจีนรุ่นนี้ เกิดมาในโลกที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ พวกเขาไม่กระหายการเมือง โดยเฉพาะถ้าเป็นการเมืองแบบที่ออกไปเรียกร้องตามจตุรัสฯ เช่นในอดีต

อมานดา หยัง นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่ วัย 23 ปี ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า เธอได้มีโอกาสเห็นกิจกรรมการประท้วง รำลึกครบรอบปีเหตุการณ์เทียนอันเหมินในฮ่องกง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่มีในแผ่นดินใหญ่ แต่เธอบอกว่า แม้มีโอกาสออกไปประท้วง เธอกลับไม่รู้สึกว่าต้องไปร่วมฯ

หยังบอกว่า เธอไม่สนใจที่จะเรียกร้องการเมืองในรูปแบบนั้น เธอต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง และหางานทำที่เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างรอบตัวก่อน

จาง ฉี วัย 22 ปี ประธานสหพันธ์นักศึกษา มหาวิทยาลัยเพื่อการสื่อสารฯ กล่าวว่า เขาเชื่อในการปฏิรูปตนเองมากกว่า และนั่นเป็นวิถีทางของเขาในการมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของประเทศ

"เราโตมาด้วยความเชื่อว่า ทุกๆ คนสามารถทำสิ่งดีๆ และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่เราต้องเริ่มต้นที่จุดเล็กๆ ของตนเองก่อน" จางกล่าวกับ โกลบอลไทม์ส

ทุกวันนี้ จาง ซึ่งสนใจประเด็นสังคม เกี่ยวกับเด็กๆ ลูกชาวแรงงานอพยพ ผู้ถูกปฏิเสธการศึกษาเนื่องจากไม่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้น เขาก็ทำงานเท่าที่จะทำได้ ตระเวนไปยังภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อถ่ายบันทึกชีวิตของเด็กๆ เหล่านั้น นำมาเปิดเผยให้ผู้อื่นได้รับรู้

บรรดาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ไม่ได้เข้าร่วมประท้วงเพื่อล้มรัฐบาล แต่ใช้วิธีเรียกร้องเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่า อาทิ การประท้วงไม่เอาโรงงานเคมีในชุมชน หรือโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ

เฉิน เซิงหลั่ว ศาสตราจารย์ ภาควิชาเยาวชนศึกษาฯ อธิบายคำ 'การเมือง' นั้นว่า คือเรื่องส่วนตัว (จุดเล็ก) กับ เรื่องส่วนรวมที่อยู่รอบๆ ตัวเอง (จุดใหญ่) คนหนุ่มสาวทุกวันนี้ สนใจการพัฒนาส่วนตัวมากกว่า และความคับแค้นส่วนตัวของคนหนุ่มสาวยุคนี้ อาจจะไม่เท่าอดีต เช่น สมัยนี้หากใครไม่พอใจนายจ้างก็สามารถลาออก และมีสิทธิทำอะไรได้มากกว่าสมัยคนรุ่นพ่อของเขา นอกจากนั้นยังได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มั่นคง มีโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องมากกว่าอดีตหลายเท่า ...เหนือสิ่งอื่นใดคือ หนุ่มสาวจีนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ มองว่าความวุ่นวายขัดขวางการพัฒนา และเสถียรภาพความมั่นคงของสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เฉินกล่าวว่า คนหนุ่มสาวเหล่านี้ ก็เห็นปัญหาต่างๆ ในจีน เช่นเดียวกับคนรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำช่องว่างรายได้ การปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่ แต่พวกเขามีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ต่างออกไป ด้วยทัศนคติที่ว่า มุ่งพัฒนาส่วนเล็กให้ได้ก่อนจะไปพัฒนาส่วนใหญ่ และเชื่อว่าการเริ่มจากจุดเล็กๆ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ปราศจากความวุ่นวายได้ที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น