เอเจนซี - นักโบราณคดีขุดพบ “กางเกง” อายุไม่ต่ำกว่า 3 พันปี ในดินแดนห่างไกลทางตะวันตกของจีน คาดเป็นของชนเผ่าผู้ใช้ชีวิตบน “หลังม้า” ยุคโบราณกาล
ทีมวิจัยนำโดยนายอุลริค เบค และเมเคอร์ เวกเนอร์ จากสถาบันโบราณคดีในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน กล่าวว่า ค้นพบกางเกงทั้ง 2 ตัว ในสุสานฝังศพหยังไห่ บริเวณแอ่งทาริมของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ มณฑลซินเจียง พื้นที่ห่างไกลทางจีนตะวันตก เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการตัดเย็บผืนหนังสัตว์สีน้ำตาลจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งแบ่งเป็นขากางเกงสองชิ้นกับเป้ากางเกงหนึ่งชิ้นเข้าด้วยกัน พร้อมมีเส้นเชือกสำหรับรัดช่วงเอวและขาด้วย
ขณะที่ผลการตรวจสอบอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (radiocarbon) พบว่ามีอายุย้อนกลับไปราว 3,000-3,300 ปี ซึ่งทำให้มันกลายเป็นกางเกงที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่วงการโบราณคดีเคยขุดค้นพบมา โดยทีมวิจัยเผยว่า เจ้าของกางเกงเป็นมัมมี่เพศชายสองรายในวัย 40 ปีเศษ ที่อาจเป็นนักรบหรือคนเลี้ยงสัตว์อยู่บนหลังม้า
ทั้งนี้สภาพอากาศแห้งและร้อนของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำทาริมอันเป็นดินแดนที่ตั้งของสุสานฝังศพมากกว่า 500 แห่ง ได้ช่วยปกป้องรักษาสภาพศพผู้เสียชีวิต เสื้อผ้า และวัตถุสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ไว้อย่างดี โดยร่างมัมมี่ชายผู้สวมใส่กางเกงที่เก่าที่สุดในโลกนี้ คนแรกถูกฝังพร้อมกับบังเหียนหนังสัตว์ ขวานสำหรับสู้รบ และปลอกหนังปกป้องแขน ส่วนอีกคนถูกฝังพร้อมกับแส้ หางม้าที่ได้รับการตกแต่งสวยงาม ซองและคันธนู
“การค้นพบครั้งใหม่นี้ได้ช่วยสนับสนุนสมมติฐานที่ว่ากางเกงถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการขี่ม้าโดยกลุ่มชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ และได้แพร่กระจายมายังภูมิภาคลุ่มน้ำทาริมโดยคนขี่ม้าเหล่านั้น” วิคเตอร์ แมร์ นักภาษาศาสตร์และนักวิชาการด้านจีนของมหาวิทยาลัยเพซิลวาเนียกล่าว
แมร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การขี่ม้าน่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อราว 3,400 ปีก่อน ขณะที่การผลิตกางเกงก็เกิดตามหลังมาไม่นานนักในพื้นที่ทางเหนือและตะวันตกของแอ่งทาริม แต่ดูเหมือนว่าเสื้อผ้าในอาณาเขตดังกล่าวจะไม่ได้รับการปกป้องรักษาโดยธรรมชาติดังกางเกงที่เพิ่งขุดพบนี้
ด้านความเห็นของมาร์การิตา เกิลบา นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า ต้นกำเนิดวัฒนธรรมการขี่ม้านั้นยังไม่มีการระบุที่แน่นอน โดยอาจย้อนกลับอย่างน้อย 4,000 ปีก่อนเลยก็ได้ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจหากจะพบกางเกงที่มีอายุถอยหลังไปไกลขนาดนั้น