เอเจนซี - นักวิจัยโบราณคดีค้นพบก้อนเนยแข็งซุกอยู่บริเวณคอและหน้าอกของมัมมี่จีน เนยแข็งดังกล่าวน่าจะมีอายุราว 3,600 ปี ถือเป็นเนยแข็งที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะนิยามคำว่า “เนยแข็ง” ว่าอย่างไร
นักโบราณคดีในจีนเก็บตัวอย่างของวัตถุสีออกเหลืองจากมัมมี่และหลุมศพจำนวน10 แห่งในบริเวณสุสานแม่น้ำน้อยหมายเลข 5 ทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลทรายทากลามากัน หรือ ทะเลทรายทากลิมากัน อันเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน มีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแห้งส่งผลดีต่อการรักษาสภาพของมัมมี่ ตลอดจนเนื้อผ้าและวัสดุเหนียวๆ อื่นๆ ที่อยู่รอบๆ มัมมี่
นักเคมีในเยอรมนีได้วิเคราะห์โปรตีนในก้อนที่ค้นพบดังกล่าว และระบุว่า วัตถุสีออกเหลืองนั้นเป็นชีส หรือเนยแข็งชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ชีสเคเฟอร์ (kefir cheese) ก้อนชีสดังกล่าวน่าจะถูกวางไว้กับมัมมี่เพื่อเป็นของกำนัลหรือเป็นอาหารสำหรับชีวิตในโลกหลังความตาย
มัมมี่ที่พบในทะเลทรายแห่งนี้นั้น เป็นที่เลื่องลือเนื่องจากเป็นมัมมี่ที่ไม่ใช่ชาวเอเชียและมาจากยุคหินที่เข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน มีความเป็นไปได้ว่า คนเหล่านี้ได้นำวิธีการทำชีสมายังจีน
นักวิจัยกล่าวว่า ชีสที่พบถือเป็นตัวอย่างของชีสจริงๆ (ที่ไม่ใช่นมหรือเนย) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะสืบค้นได้ กระนั้นก็ตาม ตัวอย่างที่ได้มาก็ไม่ใช่หลักฐานของการทำชีสที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งนี้เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานการพบตัวอย่างเศษไขมันนมบนเครื่องมือทำชีสจากโปแลนด์ที่มีอายุ 7,500 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการพบเศษนมบนเศษเครื่องปั้นดินเผาอายุ 8,000 ปีจากมณฑลแอนนาโตเลียของตรุกีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความแน่ชัดว่า เศษนมดังกล่าวมาจากชีสหรือไม่
“งานวิจัยของเราได้เปิดมุมมองใหม่ๆในการวิเคราะห์วัตถุโบราณ” อังเดร เชฟเช็นโกจากสถาบันวิจัย Max Planck Institute of Molecular Cell Biology and Genetics ของเยอรมนี กล่าว และว่า “สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า มีเทคโนโลยี่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำชีสแบบโบราณ”
(คลิปรายงานข่าวคดีค้นพบก้อนเนยแข็งซุกอยู่บริเวณคอและหน้าอกของมัมมี่จีน จากสำนักข่าวเอ็นบีซี)