เอเจนซี - เดอะ แลสเซต (The Lancet) วารสารการแพทย์ชั้นนำเผยว่า ประเทศจีนมีคนน้ำหนักตัวเกิน และเป็นโรคอ้วน (Overweight and obesity) มากเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาแล้ว
สื่อจีนรายงาน (29 พ.ค.) อ้างผลสำรวจฯ ในวารสารแลนเซต ระบุว่า ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน กำลังประสบชปัญหาน้ำหนักเกิน โดยในจำนวนนั้น มี 671 ล้านคน ที่ถูกระบุว่าเป็นโรคอ้วน
องค์การอนามัยโลก ให้นิยามว่า น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
แลนเซตฯ ระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่เป็นโรคอ้วน อาศัยอยู่ใน 10 ประเทศ และประเทศที่มากที่สุดได้แก่ สหรัฐฯ 86.9 ล้านคน รองลงมาคือจีน 62 ล้านคน
รายงานวิจัยสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันประเมินสาธารณสุข มหาวิทยาลัยวอชิงตัน จากการเก็บข้อมูล 188 ประเทศ ปีที่แล้วพบว่า มีคนอ้วนเกินมาตรฐานฯ เกือบร้อยละ 30 (2,100 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2520 ที่มีคนอ้วนฯ 857 ล้านคน และเมื่อแจกแจงลงไปจะพบว่า มีอัตราที่เพิ่มขึ้นทั้งในเพศชาย และเพศหญิง โดยเพศชายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 เป็นร้อยละ 37 ขณะที่เพศหญิงอ้วนมากขึ้นร้อยละ 38 จากเดิมร้อยละ 30
ดร. มารี งอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากโกลบอล เฮลท์ ของ สถาบันประเมินสาธารณสุข มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะสำรวจฯ กล่าวกับเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ว่า แม้อัตราของผู้มีน้ำหนักเกินของจีนจะเพิ่มต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็เป็นสัญญาณที่พึงระวังเพราะอาจจะกระทบต่อระบบการบริหารงบประมาณสาธารณสุขได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.มารี กล่าวว่า การเลี้ยงดูเด็กทารกเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก เพราะอัตราของคนที่เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในเด็กชายนั้น มีสัดส่วนมากกว่าผู้ใหญ่มากนัก
ดร.คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการ สถาบันประเมินสาธารณสุข มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เตือนว่า โรคอ้วนและน้ำหนักเกิน เป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดสถานะรายได้ หรืออยู่ที่ใด
"สามสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีประเทศไหนเลยที่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณผู้ป่วยจากโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน แต่กลับเพิ่มมากขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงประชากรกลุ่มรายได้กลาง และต่ำ หากไม่มีการตระหนักว่าเป็นวิกฤติอย่างหนึ่งของปัญหาสาธารณสุข" ดร.คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ กล่าว