เอเยนซี - ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ข่าวชาวเวียดนามประท้วงต่อต้านจีน ประท้วงปิดโรงงานต่างชาตินับร้อย และรุนแรงขนาดวางเพลิงเผาโรงงานจีน 15 แห่ง เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุได้กว่า 500 คน นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้จีนวิตกกังวล และทางการปักกิ่ง กับฮ่องกง ถึงขนาดออกโรงเตือนอย่างเป็นทางการกับนักท่องเที่ยวรวมทั้งชาวจีน ที่อยู่ในเวียดนาม
สื่อจีนรายงาน (15 พ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเวียดนามได้จับกุมตัวผู้ก่อเหตุไม่สงบ 500 คน หลังมีการวางเพลิง ปล้น ขโมยทรัพย์สินโรงงานหลายสิบแห่งในการประท้วงต่อต้านโกรธแค้นจีน กรณีที่จีนเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปยังน่านน้ำพิพาท ขณะที่รัฐบาลปักกิ่ง แถลงวิตกกังวลอย่างมากต่อเหตุประท้วงในเวียดนาม โดยเรียกร้องให้เวียดนามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด และให้รับประกันความปลอดภัยของชาวจีน อีกทั้งหน่วยงาน กิจการต่างๆ ของจีนในเวียดนาม
รายงานข่าวกล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างสองชาติ ลุกโชนขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากที่จีนเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลลึกเข้าไปยังน่านน้ำใกล้หมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามได้กล่าวประณามว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ในช่วงเวลานี้ยังเกิดเหตุปะทะกันหลายครั้งระหว่างเรือรบสองชาติ ในบริเวณใกล้กับแท่นขุดเจาะน้ำมันฯ
ทั้งนี้ การก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย และไม่เคยเกิดขึ้นในเวียดนาม โดยมีผู้ก่อความไม่สงบ 500 คน ถูกจับกุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กล่าวว่าการประท้วงที่รุนแรงนี้เกิดขึ้นในเมืองบิ่งเซวือง ซึ่งมีคนงานชาวเวียดนามผู้โกรธแค้นมาชุมนุมมากกว่า 20,000 คน ที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ใกล้กับโฮจิมินห์ซิตี้ (นครโฮจิมินห์) และมีกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในโรงงานที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของคนจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่หลายแห่งเป็นกิจการของชาวไต้หวัน และเกาหลีใต้
เซเรนา หลิว ประธานหอการค้าไต้หวันในเวียดนาม กล่าวว่า ทุกคนหวาดผวากับเหตุการณ์นี้ บางคนพยายามหนีออกจากเมืองทันที แต่ผู้ประท้วงก็ปิดกั้นถนนไว้ ขณะที่ เฉิน ปอชอว์ ผู้อำนวยการทั่วไป สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไต้หวันในโฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวว่า เวลานี้มีชาวไต้หวันกว่า 200 คน ต้องลี้ภัยไปพักที่โรงแรมมิร่า ใน โถวโด่วโมท
ทั้งนี้การประท้วงฯ ยังขยายไปยังจุดอื่นๆ อาทิ เมืองดองไน ซึ่ง บ๊อบ หูว์ ผู้จัดการทั่วไปของโรงงานเกรตซูเปอร์เอนเตอร์ไพรส์ ของไต้หวัน ที่ต้องปิดโรงงานในดองไน เล่าว่า คนงานเวียดนาม แค่เห็นตัวอักษรจีน ก็ไม่สนใจแล้วว่าโรงงานเป็นของใคร ไม่สนว่าจะเป็นโรงงานของไต้หวัน เกาหลี หรือญี่ปุ่น
เจ้าของกิจการสิ่งทอชาวฮ่องกง คนหนึ่งในโฮจิมินห์ บอกว่า โรงงานที่มีตัวอักษรจีนทั้งหมดล้วนตกเป็นเป้าหมายโจมตีของการประท้วงต่อต้านฯ โชคดีที่โรงงานของเขาแม้จะเป็นกิจการร่วมทุนของจีน-เวียดนาม แต่ก็ไม่ได้มีตัวอักษรจีนที่บริเวณทางเข้าด้านนอก จึงรอดพ้นความรุนแรงครั้งนี้
เฟลิกซ์ ชุงกว็อก นักกฎหมายผู้ดูแลกิจการโรงงานทอผ้าฯ กล่าวว่า ในเวียดนามมีโรงงานของชาวฮ่องกงหลายร้อยแห่ง และกำลังตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งจีน-เวียดนามรอบใหม่
ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศจีน และสถานกงสุลในกรุงฮานอย ได้ประกาศเตือนชาวจีนในเวียดนามแล้ว โดยระบุว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย จึงขอเตือนให้ชาวจีนในเวียดนามระมัดระวังตัว ส่วนผู้นำไต้หวัน ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ก็กล่าวในการประชุมความมั่นคงแห่งชาติว่า หากเหตุการณ์ทวีความเลวร้าย รัฐบาลจะส่งเครื่องบินไปรับชาวไต้หวันอพยพออกจากเวียดนามทันที
กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ ก็ได้แถลงความวิตกในเหตุการณ์ประท้วง อีกทั้งแสดงความห่วงใยในฐานะคู่พันธมิตรเศรษฐกิจ และขอให้เวียดนามควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศได้โดยเร็ววัน
บทเรียนประวัติศาสตร์
นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ปีนี้เป็นที่ครบรอบ 35 ปีสงครามจีน-เวียดนาม (พ.ศ. 2522) อันเป็นสงครามที่จีนไม่ค่อยต้องการรำลึกถึงนัก ไม่มีแม้การเป่าแตรอาลัยวีรบุรุษฯ ด้วยแม้เป็นสงครามใหญ่ครั้งสุดท้ายของจีนในรอบศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็เป็นสงครามที่ไม่มีผู้ใดสามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นผู้ชนะแท้จริง ข้อมูลระบุว่า จีนสูญเสียทหารจำนวนมากกว่าเวียดนามในสงครามครั้งนี้ โดยทหารจีนเสียชีวิตราว 20,000 คน แต่กระนั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ยังไม่เปิดเผยแน่นอน ขณะที่เวียดนามเจ็บช้ำจากสงครามครั้งนี้ตลอดมา ทหารเสียชีวิตราวหมื่นคน เศรษฐกิจล่มสลายนานนับสิบปี
ข้อมูลระบุว่า 'สงครามจีน-เวียดนาม' (พ.ศ. 2522) หรือรู้จักกันในชื่อ 'สงครามอินโดจีนครั้งที่สาม' เป็นสงครามชายแดนสั้น ๆ สู้รบกันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในต้นปี 2522 โดยจีนเป็นฝ่ายเปิดฉากการรุกเพื่อตอบโต้เวียดนาม ที่บุกและยึดครองกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดงที่มีฝ่ายจีนหนุนหลัง ในปี 2521
นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า กองทัพจีนบุกเข้าเวียดนามตอนเหนือ ทะลุทะลวงเข้ายึดนครชายแดนต่างๆ (6 มีนาคม 2522) จนที่สุดก็ทะลายประตูสู่กรุงฮานอย อันเป็นหลักชัยที่จีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง ถือว่าได้ลงโทษและให้บทเรียนแก่เวียดนามแล้ว แต่ขณะถอนกลับ กองทัพจีนได้เผาทำลายโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรมทางภาคเหนือของเวียดนามทั้งหมด เป็นผลให้เศรษฐกิจเวียดนามไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้นานนับสิบปี มีข้อมูลยืนยันว่าหลังจากสงครามครั้งนี้ มีชาวเวียดนามที่ต้องเสียชีวิตเพราะความอดอยากนับล้านคน จนในที่สุด เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และการยึดยื้อสงครามในกัมพูชาก็เป็นเหตุให้เวียดนามยากจนหนักเข้าไปอีก ทำให้เวียดนามไม่มีทางเลือกนอกจากถอนทหารออกจากกัมพูชาทั้งหมด และเป็นฝ่ายไปขอเจรจาเปิดสัมพันธ์ทางการทูต-การค้ากับจีนในปี พ.ศ. 2534 โดยก่อนที่จะมีการเปิดสัมพันธ์ทางการทูต เวียดนามเรียกร้องให้จีนขอโทษต่อสิ่งที่ทำในสงครามฯ แต่จีนปฏิเสธ และยืนยันว่าจะไม่ขอโทษใด ๆ ทั้งสิ้น เวียดนามจึงหมดทางเจรจา ต้องยอมเปิดสัมพันธ์ฯ กับจีน และนำระบอบเศรษฐกิจแบบผสมฯ เช่นเดียวกับจีนเข้าประเทศจนถึงทุกวันนี้
ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่า ความขัดแย้งฝังใจของชาวเวียดนาม ได้กลับมาปะทุกันอีกครั้ง จากเหตุพิพาทน่านน้ำหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ จนหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่าจะคลี่คลาย หรือบานปลายไปทางใด จะทวีกลายเป็นคู่ขัดแย้งอาเซียน ศึกสงครามอินโดจีนครั้งใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคงต้องเรียนรู้จาก 'บทเรียน' ที่เคยให้ไว้แก่กันในอดีต