ไชน่า เดลี่ - เกิดน้อย แต่งช้า ย้ายถิ่น ... ปัจจัยหลักทำ “ครอบครัวจีน” ลดขนาดลง สวนทาง “คนโสด” พุ่งพรวดเป็นเท่าตัว
รายงานพิเศษของคณะกรรมการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ (National Health and Family Planning Commission) ระบุ (14 พ.ค.) ว่า ขนาดของครอบครัวชาวจีนในปัจจุบันกำลังหดเล็กลงกว่าในอดีต โดยค่าเฉลี่ยสมาชิกครอบครัวลดลงไปอยู่ที่ 3.02 คน ในปี 2555 แตกต่างจากช่วงปลายทศวรรษ 1950 ซึ่งอยู่ที่ 5.3, 3.96 ในปี 2533 และ 3.10 คน/ครอบครัว ในปี 2553
อนึ่ง รายงานชี้ว่า “อัตราการเกิดใหม่ต่ำลง คนแต่งงานช้าลง และการอพยพย้ายถิ่นของประชากร” เป็นสาเหตุหลักของปรากฏการณ์นี้
นอกจากนั้นยังพาดพิงถึงนโยบายวางแผนครอบครัวช่วงปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งมีเป้าหมายควบคุมปริมาณประชากรในประเทศที่ดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำกัดให้คู่สามีภรรยาในเมืองมีลูกได้เพียงคนเดียว ส่วนในชนบทมีลูกคนที่สองได้ หากลูกคนแรกเป็นผู้หญิง ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลระยะยาวเรื่อยมา
“ระหว่างปี 2543-2553 กลุ่ม ‘คนโสด’ เพิ่มทวีคูณเป็นเท่าตัว ขณะเดียวกันครอบครัวของคู่สามีภรรยาที่เลือกไม่มีบุตร ก็เพิ่มมากขึ้นกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน”
ปริมาณ “คนโสด” และ “ครอบครัวไร้บุตร” ทั้งสองประเภทครองสัดส่วนกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนครอบครัวทั้งหมดในจีนเมื่อปี 2543 และอีก 10 ปีต่อมา สัดส่วนดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 160 ล้านครอบครัวในปี 2553 โดยเฉพาะกลุ่มคนโสดในเมืองเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ขณะที่ในชนบทเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ รายงานเสริมว่า พลเมืองจีนที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นในปัจจุบัน ตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตครอบครัวช้าลง เนื่องจากเงื่อนไขของอาชีพการงาน รวมถึงทัศนคติต่อ ‘ชีวิตคู่’ ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นองค์ประกอบทำให้ผู้คนเลือกอยู่เป็นโสดมากกว่า โดยพบว่าอายุเฉลี่ยของคนโสดยุคใหม่อยู่ที่ 30 ปีขึ้นไป และร้อยละ 43.2 ของคนกลุ่มนี้ เลือกอาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากกว่าอยู่กับพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง