เอเจนซี - บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และเจ้าหน้าที่ในวงการเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ยอมรับว่า หลายปีมานี้ เศรษฐกิจจีนมีอาการเหมือนคนป่วย หลังพึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเก่าๆ เพื่อพัฒนาประเทศ แต่วิธีเหล่านี้้ก็เป็นอันตรายเช่นกัน อาทิ ระบบบริหารที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นนำเอาที่ดินออกขายให้กับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็หมุนเงินทุนนั้นมาเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อส่งออก การผลิตซึ่งล้างผลาญทรัพยากร ก่อมลพิษ และยังเป็นช่องทางให้กับโครงการทุจริตคอร์รัปชั่น
เป็นที่ทราบกันดีว่า รูปแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเก่านี้ มีประสิทธิภาพในช่วง 2 ทศวรรษแรกของการปฏิรูป แต่ก็ก่อปัญหาโครงสร้างที่ไม่อยู่บนรากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ "เมืองร้าง" ทั่วแผ่นดินจีน ที่ผู้ลงทุนสร้างโครงการเพื่อหวังเก็งกำไรระยะสั้น
ปัญหาทุกวันนี้ของจีนจึงอยู่ที่ว่า จะแก้ปัญหาอันเกิดจากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อไม่ให้เผชิญวิกฤติในภายหน้า โดยมีความพยายามในการใช้วิธีการทำให้ช็อค (Shock therapy) อันเป็นศัพท์การแพทย์ที่หมายถึง การทำให้ร่างกายแน่นิ่งและหมดสติ ไปอาจจะใช้ไฟฟ้าช็อต หรือ ฉีดอินซูลินเข้าไป ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อคนไข้ฟื้นขึ้นมาแล้วจะมีอาการดีขึ้น แต่ก็ต้องรอบคอบไม่ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนเกิดวิกฤตแบบรัสเซียและชาติยุโรปอื่นๆ ในอดีต
Shock therapy ยังเคยเป็นเครื่องมือที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ อาทิ วิธีลอยตัวราคาสินค้าและอัตราแลกเปลี่ยนทันที รวมทั้งสั่งให้ประเทศที่มีวิกฤติ เปิดเสรีทางการค้า แปรรูปรัฐวิสาหกิจและสาธารณูปโภค เปิดประเทศให้การลงทุนจากต่างชาติเข้ามา เช่นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
การรักษาด้วยการช็อตเศรษฐกิจเพื่อจัดการกับปัญหาเงินทุนที่จมไปกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ทิ้งร้างและยังไม่เสร็จ การล้มละลายของบรรดาบริษัทห้างร้าน อีกทั้งงบดุลเละเทะของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อาจจะทำให้บางเมืองและบางอุตสาหกรรมจะต้องทนทุกข์แสนสาหัส แต่ก็ยังดีที่จำกัดผลร้ายไว้เพียงระดับท้องถิ่น โดยรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เกิดปรากฏการณ์ลูกโซ่ รวนทั้งระบบฯ ขณะที่ในระดับชาตินั้น ดัชนีหลักต่างๆ อาทิ ดัชนีเงินเฟ้อ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องระมัดระวังยิ่งในระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ ที่สำคัญคือ ดัชนีการว่างงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงย้ำว่า การสร้างงานให้คนจีนคือปัจจัยสำคัญยิ่ง
ที่ผ่านมานั้น แม้ตัวเลขจีดีพีจีนจะยังดูดี แต่ล้วนเกิดขึ้นจากการทุ่มเงินทุนอัดให้เศรษฐกิจขยายตัวอาจจะอันตรธานไร้ความหมาย ไปอยู่ในโครงการซึ่งไม่รู้จะสร้างทำไม อีกทั้งจมอยู่ในปัจจัยอุตสาหกรรมที่ไม่อาจแข่งขันกับใครในโลก
บรรดานักวิเคราะห์ ยอมรับว่าการการล้างตับขับของเสียบีบส่วนเกินเหล่านั้นออกจากตลาดฯ เป็นสิ่งจำเป็นในการล้างพิษจากไขมันอุดตันของเศรษฐกิจ และการบังคับให้ธนาคารรัดเข็มขัด จัดระเบียบธุรกิจ ก็เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ต้องไม่ผิดพลาด ดังนั้น การเร่งตัวเลขจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ, GDP) ที่ตกลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ คงไม่ใช่เรื่องวิตกกังวลอะไรของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าในสองปีนี้ การปฏิรูปฯ ทั้งแบบรัดเข็มขัด กำจัดของเสียจากยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเก่า คงจะชะลอการเจริญเติบโตอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.5 หรือน้อยกว่านั้น จนกว่าผลลัพธ์ตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่างๆ จะดีขึ้นจนเห็นได้
ความคาดการณ์ในอนาคตนั้น มีผู้เชี่ยวชาญฯ คิดขนาดว่า เศรษฐกิจจีนจะสดใส หากสามารถกำจัดอุตสาหกรรมเก่าไปสักครึ่งหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจยุคใหม่ อาทิ ธุรกิจบริการ และธุรกิจบนพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ฯลฯ
ขณะที่รัฐบาล ก็ประกาศว่าจะสร้างตลาดพันธบัตรท้องถิ่น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเงินระดับท้องถิ่น แต่ก็ยังอยู่ระหว่างออกกฎหมายรองรับซึ่งกว่าจะมีผลสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาด ก็ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ดังนั้น การพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ คงไม่ร้อนแรงแบบในอดีตอีกแล้ว อาทิ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในไหโข่ว มณฑลไห่หนัน และ เป่ยไห่ ในเขตปกครองตนเองก่วงซีจ้วง ที่ยังค้างร้าง มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เมื่อ 20 ปีก่อน กลายเป็นภาพแผลเป็นของเศรษฐกิจท้องถิ่นต่างๆ ที่จะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ เพราะรัฐบาลกลางจะไม่เข้าไปอุ้มแบกภาระฯ ให้อีก แต่จะปล่อยให้รัฐบาลท้องถิ่นปรับแก้วิธีการพัฒนาเอาเอง เพราะในความเป็นจริง รัฐบาลกลางแม้จะแข็งแกร่งแต่ก็มีความสามารถช่วยเหลือที่จำกัด แม้อาจจะเปิดสถานะเขตเศรษฐกิจเสรีให้กับเมืองต่างๆ ได้ อาทิ เซี่ยงไฮ้ แต่ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะช่วยเมืองต่างๆ เป็นร้อยๆ เมืองในคราวเดียว ที่ล้วนบริหารผิดพลาดวายป่วงแบบเดียวกัน
ที่แน่ชัด คือรัฐบาลจีนภายใต้การบริหารรุ่นนี้ ไม่สามารถทำอะไรแบบที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า ในปี 2551 ทำได้ ไม่ว่าจะใช้มาตรการอัดฉีด 4 ล้านล้านหยวน ผูกขาดกิจการรัฐ ผูกขาดอุตสาหกรรม เพื่อครอบครองเศรษฐกิจ มุ่งประโยชน์แต่กิจการขนาดใหญ่ของรัฐบาลท้องถิ่น โดยไม่ห่วงศักยภาพอุตสาหกรรมภาคเอกชน บริษัทและสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ขณะเดียวกันรัฐบาลท้องถิ่นปัจจุบัน กลับต้องเรียนรู้ว่าจะขายกิจการของรัฐให้กับเอกชนอย่างไรด้วยซ้ำ เห็นได้จากล่าสุด (16 เม.ย.) คณะกรรมาธิการแห่งรัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงเป็นประธาน ยังคงยืนยันไม่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะใช้มาตรการตัดลดอัตราส่วนเงินทุนสำรอง (RRR) สำหรับบางธนาคารท้องถิ่น และขยายขอบเขตของการยกเว้นภาษีให้กับ บริษัทเอกชนที่สร้างงาน
ฉู่ หงปิน นักเศรษฐศาสตร์จาก เอชเอสบีซี กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจของจีนปีนี้ยังคงเหมือนปีที่แล้ว ขึ้นๆ ลงๆ สลับไตรมาสกันไป จากการบีบ-ปล่อยตามมาตรการรัฐต่างๆ พร้อมกับเตือนว่ารัฐบาลต้องเร่งความพยายามที่จะปฏิรูปการลงทุนและกลไกการเงิน ลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน ลดภาษี และป้องกันไม่ให้เงินหยวนแข็งค่าฯ
จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่า ในปีนี้นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง จะรับมือขณะเดียวกันก็รุกเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลาง-ยาว เพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ และด้านมืดของทุนนิยมแห่งความโลภของมนุษย์