xs
xsm
sm
md
lg

จีนวันนี้ ใครอย่าคิดข่ม สหรัฐฯ ไม่อาจคุมฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอก ฉัง วั่นเฉวียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน (ซ้าย) และ ชัค เฮเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในพิธีต้อนรับการเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายน ที่่ผ่านมา (ภาพรอยเตอร์ส)
เอเจนซี - ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการแถลงร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ชัค เฮเกล กับพลเอกฉัง วั่นเฉวียน ระหว่างการเยือนจีน ( 8 เม.ย.) ซึ่งเกิดขัดกันชนิดไม่นัดมาก่อนนับเป็นข่าวที่สร้างความประหลาดใจกับสาธารณชน เพราะเป็นการยืนแถลงโต้กัน ที่ดูจะผิดกาละเทศะทางการทูตของผู้มาเยือนฯ แต่อย่างไรก็ตาม บรรยากาศโดยรวมยังคงดูเป็นมิตรที่เปิดใจต่อกัน

รายงานข่าวกล่าวว่า มีถ้อยคำสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายกล่าว อันอาจนำไปตีความได้ไกล เมื่อจีนไม่สงวนถ้อยทีใดๆ อีก ได้ถามตรงไปยังผู้นำกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ว่ามีเจตนาที่จะสกัดความยิ่งใหญ่ของจีนในภูมิภาคเอเชีย โดยการให้ท้ายบรรดาชาติเอเชียต่างๆ ที่จะเผชิญหน้ากับจีน ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฯลฯ

ก่อนการเยือนจีนนั้น เป็นจังหวะที่อีกด้านหนึ่งสภาผู้แทนสหรัฐฯ ก็ผ่านกฎหมายขายเรือรบให้ไต้หวัน สื่อญี่ปุ่นยังรายงานอ้างคำกล่าวของ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ว่า จีนไม่มีสิทธิกำหนดเขตป้องกันภัยทางอากาศเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี่ว์ (เซนกากุ) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทฯ โดยไม่ปรึกษาชาติอื่นๆ

รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 5 เม.ย. ก่อนผู้นำกองทัพสหรัฐฯ เยือนจีน หนังสือพิมพ์นิคเคอิ ได้รายงานคำวิจารณ์จีนของชัค เอเกล เกี่ยวกับการประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศของจีน (Air defense identification zone / ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออกว่า ก่อให้เกิดความร้าวฉานกับเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น สัปดาห์ก่อนหน้า เฮเกลยังได้ยกประเด็นข้อพิพาทดินแดนทะเลจีนใต้ มาหารือในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม ชาติอาเซียน ในฮาวาย สหรัฐฯ ด้วย

รัฐมนตรีกลาโหมจีน พลเอก ฉัง วั่นเฉวียน กล่าวชัดถ้อยชัดคำว่า ไม่พอใจกับความเห็นนี้ และโต้ว่าจีนไม่ได้เป็นฝ่ายก่อปัญหากับเพื่อนบ้านก่อน พร้อมกับย้ำว่า 'จีนในวันนี้ใครก็อย่าได้คิดข่ม สกัด'

ฟาน ฉังหลง รองประธานกรรมาธิการกลาง กองทัพจีน แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาทันทีที่พบเฮเกล กลางวงแถลงข่าวฯ ว่า บทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่ข้างหลังญี่ปุ่น มันค่อนข้างแข็งกร้าว และชัดเจนถึงเจตนา ซึ่งก่อความขัดแย้งกับประชาชนจีน รวมทั้งตัวเขาเอง

ฟาน กล่าวว่า ในเรื่องหมู่เกาะเตี้ยวอี่ว์ สหรัฐฯ มักพูดซ้ำๆ ว่า ไม่ขอยุ่ง แต่ท่านเฮเกล ก็มักแสดงความเห็นต่อสาธารณในทางสนับสนุนการกล่าวอ้างของญี่ปุ่น อีกทั้งยินดีที่จะร่วมมือป้องกันสิทธิกล่าวอ้างนั้น

ฟาน ยังกล่าวอีกว่า ในปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันในการอ้างสิทธิอธิปไตย แต่กองทัพสหรัฐฯ ก็เข้าร่วมกับฟิลิปปินส์ชี้นิ้วกล่าวหาจีน นอกจากนั้น ฟาน ยังตำหนิสหรัฐฯ ในกรณีความสัมพันธ์ จีน-ไต้หวัน สภาผู้แทนสหรัฐฯ ที่มักกระตุ้นประเด็นขัดแย้ง ขณะที่จีนพยายามใช้วิธีสันติแก้ไขสถานการณ์ช่องแคบ

"จีนหวังว่า มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะใช้อำนาจอย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในเอเชีย เช่นเดียวกับถนอมความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ" ฟานกล่าว

ด้าน เฮเกล เมื่อได้ฟังคำแถลงเปิดใจตรงๆ ของ ฟาน ก็ได้กล่าวขอบคุณ และยืนยันว่าสหรัฐฯ ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับจีน โดยตอบเพียงว่า สหรัฐฯ ยึดถือนโยบายจีนเดียวมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) เช่นเดียวกับให้ความสนับสนุนให้เกิดสันติภาพระหว่างไต้หวัน - จีน นอกจากนั้น กรณีไต้หวันฯ สนธิสัญญาของสภาผู้แทนฯ เป็นสิ่งที่แยกต่างหาก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล

เฮเกล ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เข้ามายุ่งกับเรื่องพิพาทอธิปไตย แต่ทั้งฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นต่างเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน และอเมริกามีพันธะผูกพันตามสนธิสัญญาในการปกป้องสองประเทศนี้อย่างเต็มที่ ด้วยความหวังว่าปัญหาต่างๆ จะได้รับแก้ไขด้วยวิธีทางการทูต เพื่อปลายทางแห่งความมั่นคงและมีเสถียรภาพในภูมิภาคฯ

เฮเกล กล่าวว่า สหรัฐฯ กับจีน ถือประโยชน์ร่วมกันในการแก้ปัญหาของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งในการนี้ กองทัพสองชาติ จึงมีแผนที่จะร่วมฝึกซ้อมภารกิจทหารเสนารักษ์ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้นำทหารสหรัฐฯ จะเยือนจีนด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งสภาผู้แทนสหรัฐฯ ก็ผ่านกฎหมายขายเรือรบให้ไต้หวัน แม้จะมีการแสดงความเห็นขัดแย้งกันอย่างตรงไปตรงมาของสองผู้นำกองทัพฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนี้ แต่บรรยากาศโดยรวมยังคงเป็นมิตร โดยต่างฝ่ายต่างสงวนจุดต่าง

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยังได้พบปะพูดคุยกับ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ในวันต่อมา (วันพุธที่ 9 เม.ย.) โดยสี จิ้นผิง ย้ำความสำคัญของการหารือ-แลกเปลี่ยนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้มากขึ้น โดยเรียกร้องให้ยึดมั่นหลักการสัมพันธ์ "ไม่ขัดแย้ง ไม่เผชิญหน้า" ในการเข้าจัดการกับความไม่ลงรอยต่างๆ เพื่อสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ของชาติมหาอำนาจโลก อีกทั้งยังให้เกียรติ ผู้นำทางทหารสหรัฐฯ พาขึ้นไปชมเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง นับเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ขึ้นเรือธงของกองทัพจีน เปิดประตูโรงเรียนการทหาร และรับการต้อนรับจากบรรดาเจ้าหน้าที่ทหารระดับอาวุโสฯ

จ้าว เสี่ยวจู่ว์ รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันประเทศ สถาบันการทหารจีน กล่าวว่า การเยี่ยมเยือนกันเพียงครั้งเดียว ไม่อาจเปลี่ยนความคิดหรือนโยบายของฝ่ายใดในชั่วข้ามคืน แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้มีความเข้าใจกัน ถือประโยชน์ร่วมกัน นี่นับเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของมหาอำนาจ
ชัค เฮเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (ซ้าย) นั่งตรงข้ามกับ พลเอก ฉัง วั่นเฉวียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ในการประชุมร่วมฯ ที่กรุงปักกิ่ง (8 เม.ย.) ซึ่งในการนี้ กองทัพสองชาติ มีแผนที่จะร่วมฝึกซ้อมภารกิจทหารเสนารักษ์ด้วยกัน (ภาพเอพี)

คลิปซีซีทีวี รายงานข่าวฟาน ฉังหลง รองประธานกรรมาธิการกลาง กองทัพจีน แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาทันทีที่พบเฮเกล กลางวงแถลงข่าวฯ ว่า บทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่ข้างหลังญี่ปุ่น มันค่อนข้างแข็งกร้าว และชัดเจนถึงเจตนา ซึ่งก่อความขัดแย้งกับประชาชนจีน รวมทั้งตัวเขาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น