xs
xsm
sm
md
lg

มิเชล โอบาม่าหนุนการต่อสู้ภาคประชาชนเต็ม ๆ ระหว่างเยือนจีน ที่เลี่ยงประเด็นการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มิเชล โอบาม่า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐฯ รำมวยไทเก็กร่วมกับนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉิงตูหมายเลข 7 เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน วันที่ 25 มี.ค. 2557 – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นางมิเชล โอบาม่า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เชิดชูการต่อสู้ภาคประชาชน ความเท่าเทียมกันด้านชาติพันธุ์ และเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งล้วนเป็นประเด็นอ่อนไหว ระหว่างการเยือนแดนมังกร ที่ตั้งใจว่า จะหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง

“ ในอเมริกา เราเชื่อกันว่า ไม่ว่าคุณจะอาศัยที่ใด หรือพ่อแม่คุณมีเงินมาแค่ไหน หรือคุณมีเชื้อชาติอะไร นับถือศาสนาใด ถ้าคุณทำงานหนักและเชื่อมั่นในตัวเอง คุณย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้” สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแดนมะกันกล่าวปราศรัยกับนักเรียนหลายร้อยคนของโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉิงตูหมายเลข 7 เมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน)

“เรายังเชื่อด้วยว่า คนเราทุกคนเท่าเทียมกัน และเราทุกคนมีสิทธิ์พูดในสิ่งที่เราคิด และนับถือบูชาตามที่เราเลือก” เธอระบุ
อย่างไรก็ตาม นางโอบาม่ากล่าวในตอนท้ายว่า การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอุดมการณ์เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเสมอไป

ทั้งนี้ มณฑลซื่อชวน และมนฑลอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นถิ่นอาศัยของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายทิเบต นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนระบุว่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ถูกกดขี่ด้านศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเห็นได้จากเหตุการณ์ชาวทิเบตประท้วงเผาตัวตาย ที่เกิดขึ้นมากกว่า 120 รายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
มิเชล โอบาม่า สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐฯ ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษของโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉิงตูหมายเลข 7 เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน วันที่ 25 มี.ค. 2557 – รอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น และประณามพฤติกรรมแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจีนกล่าวหาว่า มีทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวทิเบต ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นหัวหน้าใหญ่

ในการเยือนจีน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของมิเชล โอบาม่า ซึ่งมีมารดาและบุตรสาวทั้งสองคนร่วมเดินทางมาด้วย สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งยังมีกำหนดไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารของชาวทิเบตในเมืองเฉิงตูอีกด้วย

ระหว่างการปราศรัยที่โรงเรียนมัธยมแห่งนี้ นางโอบาม่ายังยกย่องขบวนการสิทธิพลเมือง ซึ่งเธอระบุว่า ทั้งเธอและสามีเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชน

ทว่าการต่อสู้ภาคประชาชนนับเป็นประเด็นอ่อนไหวในจีน ซึ่งควบคุมการเดินขบวนประท้วงอย่างเข้มงวด

นางโอบาม่าได้เล่าเรื่องของขบวนการสิทธิพลเมืองในอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 จากความไม่พอใจของพลเมืองธรรมดา ๆ ต่อกฎหมาย ที่ปราศจากความเป็นธรรม และการแบ่งแยกเชื้อชาติในประเทศ โดยภาคประชาชนต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน

“ดังนั้น พวกเขาจึงเดินขบวนประท้วงอย่างสงบ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเหล่านั้น พวกเขาลงคะแนนเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ใหม่ ๆ ซึ่งมีทัศนคติเดียวกัน”

“และอเมริกาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ แต่ว่า แน่นอน” นางโอบาม่ากล่าว

“ เราได้กำจัดกฎหมายที่อยุติธรรมเหล่านั้น และทุกวันนี้ แค่ 50 ปีต่อมา สามีและฉันก็ได้เป็นประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ”

นางโอบาม่าเริ่มการเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสฯ (20 มี.ค.) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และอำลาแดนมังกรเมื่อวันพุธ (26 มี.ค.) โดยเธอยังได้พบกับนางเผิง ลี่หยวน ภรรยาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และไปเยือนสถานที่สำคัญ เช่นกำแพงเมืองจีน และพบปะสนทนากับนักเรียน นักศึกษา และนักการศึกษา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า การมาเยือนครั้งนี้มุ่งในประเด็นนุ่ม ๆ เช่น เรื่องการศึกษา

ในการมาเยือนครั้งนี้ นางโอบาม่ายังฝึกรำมวยไทเก็กร่วมกับเด็กนักเรียนโรงเรียนมัธยมเฉิงตูหมายเลข 7 อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น