xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตก ประชุมสภาฯ 40 ปี ชีวิตคนจนไม่เคยดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณครู สีว์ เหลียงฝัน พานักเรียน 20 คน เดินตามบนทางแคบๆเลียบหน้าผา ไปยังโรงเรียนประถมปั้นปัว ถนนที่ไม่น่าเรียกว่า “ถนน” สายนี้ ถูกกรุยฯ ไว้เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านเกิ่งกวน และโรงเรียนประถมศึกษาปั้นปัวของหมู่บ้านปั้นปัวซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับภูผาสูงชัน ตำบลเซิงจี เขตปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจว (ภาพ รอยเตอร์)
เอเจนซี - ต้นเดือนมีนาคมนี้ มีประเด็นร้อนในข่าวจีนอยู่ 2 เรื่อง คือการสูญหายของเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ซึ่งมีผู้โดยสารชาวจีนอยู่มากถึง 152 คน และข่าวการประชุมสภาฯ จีน โดยในจำนวนข่าวที่มีการแชร์กันจำนวนมากในสังคมออนไลน์นั้น นอกจากเที่ยวบิน MH370 ก็คือข่าวเก็บตก ประชุมสภาฯ 40 ปี ชีวิตคนจนไม่เคยดีขึ้น

เซาท์เทิร์น เมโทรโปลิส เดลี่ รายงาน (15 มี.ค.) ว่า ประเด็น“ปัญหามลพิษ” “ปราบคอร์รัปชั่น” ซึ่งเป็นวาระร้อนในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนประจำปี 2557 อันมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และภาคส่วนอื่นๆ ยังอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าปัญหาความยากจน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำฯ

สื่อจีนรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นั้น วงประชุมฯ หารือ เล็กๆ วงหนึ่งซึ่งมีทั้งสมาชิกฯ พรรคคอมมิวนิสต์ สถาบันสังคมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนทำมาหากินรายวันจำนวนมากนั้น ไม่ได้สนใจปัญหาหมอกฯ เลย เพราะชีวิตจริงแต่ละวันพวกเขามืดมนกว่า

นายซู่ หงปิน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น กล่าวว่า ทุกวันนี้ ที่หมู่บ้านต่างๆ อาทิ ชินกู่ ในเขตหรงฉาง นครฉงชิ่งที่เจริญรุ่งเรือ แต่เด็กอนุบาล - ประถม ในหมู่บ้านเหล่านั้น ยังต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเดินข้ามทุ่งไต่ถนน และบางครั้งต้องคลานเลาะเขาไปโรงเรียนและตอนเย็นกว่าจะเดินกลับถึงบ้านก็มืดค่ำแล้ว โดยโรงเรียนแต่ละแห่งอยู่ห่างออกไปกว่า 5 - 10 ลี้ (ราว 2.5 - 5 กิโลเมตร)

ซู่ หงปิน กล่าวว่า ปีนี้เขาอายุ 47 ปีแล้ว ขณะที่ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน สภาพของเขาก็ไม่ต่างจากเด็กๆ เหล่านี้ ต้องตื่นแต่เช้ามืด นอนดึก เพราะเดินทางไปกลับโรงเรียน แม้ 40 ปีที่ผ่านมา จีนมั่งคั่งขึ้น แต่สำหรับคนจนนั้น ชีวิตกลับไม่มีอะไรต่างกันเลยจากเมื่อ 40 ปีก่อน มิหนำซ้ำอาจจะยากลำบากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

"40 ปีก่อน ระยะห่างระหว่างบ้านกับโรงเรียนยังสั้นกว่าทุกวันนี้ เด็กๆ อายุ 6 - 7 ขวบ บางคนต้องเดินไปเรียนเพียงลำพังตลอดระยะทาง 5 กิโลเมตร เห็นแล้วหดหู่ใจพอดู ที่ความเจริญไม่สามารถไปถึงคนเหล่านี้" ซู่ กล่าว

นายซู่ กล่าวว่า คนเกิดมาไม่เท่ากัน แต่รัฐบาลก็ไม่ควรละเลยต่อความเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรม เพราะบรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านี้ คือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม พวกเขาออกจากบ้านมาทำงานใช้แรงงาน และหลายคนต้องกลับบ้านในสภาพบาดเจ็บ พิการ ส่วนหมู่บ้านที่เขาจำจากมาก็มีแต่คนแก่ชราถูกทอดทิ้ง ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ไม่มีใครสนใจว่าครอบครัวเหล่านี้ ว่าจะอยู่กันอย่างไร เจ็บ ป่วย และตายอย่างไร

ข้อมูลที่นายซู่กล่าว คือตัวเลขร้อยละ 90 ของคนยากจนนั้น เจ็บป่วยและเสียชีวิตโดยไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล พร้อมกับเรียกร้องให้การประชุมฯ หารือในเรื่องนี้

ซู่ หงปิน กล่าวว่า สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นชนชั้นสูง ซึ่งปัญหาที่พวกเขาเห็นก็เป็นเรื่องที่พวกเขาสนใจ แต่เป็นคนละเรื่องกับที่คนยากจนสนใจ บรรดาสมาชิกพรรคฯ ไม่ได้มองปัญหาในฐานะตัวแทนของพวกเขา แต่มองปัญหาของตัวเองมากกว่า

"ผมพูดมาตลอดว่า ความเปลี่ยนแปลงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น มีทั้งผลดีและผลเสีย ปัญหาสังคมสลายครอบครัวพลัดพราก ก็เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรอง เพราะจะมีประโยชน์อะไรที่มีบ้านสองชั้น แต่ข้างในนั้นว่างเปล่า" ซู่ หงปิน กล่าว

ความหวังจากการประชุมสภาฯ ครั้งนี้ นายซู่ หวังว่ารัฐบาลจะมองชีวิตด้วยสายตาของประชาชนเดินดิน ข้ามเขาไปโรงเรียนเหล่านี้มากขึ้น เพราะพวกเขาสร้างประเทศนี้ การลดช่องว่างความร่ำรวย - ยากจน ยังเป็นเรื่องใหญ่ และสิ่งที่ทำได้คือการเปิดโอกาสให้มีตัวแทนในภาคประชาชนเหล่านี้เข้ามาสู่การประชุมพรรคฯ กำหนดนโยบายต่างๆ มากขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์ ต้องการผู้แทนที่เป็นปากเสียงหูตาของคนเหล่านี้มาก

จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยซิงหวาในกรุงปักกิ่งพบว่า ปัจจุบันมีชาวจีนเพียงร้อยละ 27.6 ซึ่งมีสถานภาพผู้อาศัยในเมือง โดยได้รับสิทธิ์ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และบริการสาธารณะอื่น ๆ อย่างสมบูรณ์ ขณะที่ผู้อาศัยในเมืองอีกหลายร้อยล้านคน ยังคงมีสถานะเป็นชาวชนบท ซึ่งถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ทั้งนี้ นโยบายพัฒนาของจีนนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเร่งพัฒนาขยายเมือง และให้ประโยชน์กับแรงงานอพยพ โดยล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ ( 16 มี.ค.) ได้ประกาศแผนการสร้างเมืองใหม่แห่งชาติระยะเวลา 6 ปีตั้งแต่ปี 2557-2563 เรียกร้องให้มีการเพิ่มสัดส่วนของประชากร ซึ่งอาศัยในเมืองต่างๆ เกือบ 1,400 ล้านคน หรือร้อยละ 53.7 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 60 ซึ่งหมายถึงการโยกย้ายประชากรอีกราว 90 ล้านคนเข้ามาอาศัยในเมือง โดยมองว่า การอนุญาตให้ประชาชนย้ายเข้ามาหางานทำซึ่งมีรายได้ดีกว่าในเมือง นับเป็นเสาหลักหนึ่งสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยอาศัยการบริโภคในประเทศเป็นกลไกขับเคลื่อน แทนการค้าและการลงทุน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังให้คำมั่นในร่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปีฉบับล่าสุด ที่จะขยายบทบาทของผู้ประกอบการและพลังของตลาด ตลอดจนปฏิรูประบบการธนาคาร และในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ในแผนการขยายเมืองของจีนฉบับดังกล่าว อาทิ การสร้างทางรถไฟไปถึงเมืองต่าง ๆ ที่มีผู้อาศัยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคนภายในปี 2563 ส่วนเมือง ที่มีผู้อาศัยไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนจะมีการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟความเร็วสูง โดยแผนการพัฒนาเมืองยังคำนึงถึงรูปแบบการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ในระยะยาวแล้ว ทางการคาดว่า ประชาชน 300 ล้านคนในชนบทจะโยกย้ายมาอยู่ในเมืองภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับการอพยพของประชากรทั้งประเทศสหรัฐฯ เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศจีนมีสภาพเป็นสังคมชนบทเสียส่วนใหญ่ ต่อมา การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบตลาดเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ส่งผลให้เมืองต่าง ๆ เช่นกรุงปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้เติบโต กระทั่งอยู่ในกลุ่มเมืองใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม แรงงานอพยพกลับไม่สามารถย้ายสำมะโนครัวจากภูมิลำเนาเดิม จึงถูกจำกัดสิทธิ์ด้านการศึกษา การประกันสุขภาพ และเงินบำนาญ แม้แต่พวกที่อาศัยอยู่ในเมืองมานานหลายปีก็ไม่ได้รับสิทธิ์เหล่านี้เช่นกัน แต่ในแผนการขยายเมืองนี้จะให้สถานภาพชาวเมืองอย่างถาวรแก่แรงงานชนบท 100 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น