xs
xsm
sm
md
lg

เหตุแทงคนที่สถานีรถไฟคุนหมิง ศึกนองเลือดที่มีแต่แรงขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่รู้จักหยุด...

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ภาพเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2557 ชาวจีนมาร่วมไว้อาลัยเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงที่คนร้ายไล่แทงผู้คนที่สถานีรถไฟคุนหมิง มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 29 คน บาดเจ็บกว่า 140 คน(ภาพ เอเอฟพี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--เหตุปะทะที่สังหารผลาญชีวิตในมณฑลซินเจียง ได้ปรากฏเป็นข่าวถี่ๆช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยที่ผู้คนทั่วไปอาจมิเคยได้รับรู้กันเลย แต่แล้วในคืนวันเสาร์(1 มี.ค.) ก็เกิดเหตุสะเทือนขวัญช็อกสังคม ที่ทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นรู้ว่ามีปัญหารุนแรงเรื้อรังในซินเจียง

กลุ่มคนร้ายทั้งชายและหญิงกว่า 10 คน สวมชุดดำ หน้ากาก ถือมีดยาว วิ่งกรูเข้าไปในสถานีรถไฟเมืองคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนัน ไล่แทงคนอย่างไม่เลือกหน้า เหตุรุนแรงนี้ได้คร่าชีวิตอย่างน้อย 34 คน บาดเจ็บมากกว่า 140 คน

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา รัฐบาลท้องถิ่นคุนหมิงก็แถลงระบุเหตุรุนแรงฯที่สถานีรถไฟคุนหมิง เป็น “การโจมตีแบบลัทธิก่อการร้ายที่มีการจัดตั้ง” โดย “กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในมณฑลซินเจียง” ทั้งๆที่ในขณะที่แถลงนั้น (2 มี.ค.)ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนรับรองคำกล่าวอ้าง

คนร้าย 4 คน ได้แก่ ชาย 3 คน และหญิง 1 คน ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และหญิงอีกคนตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกจับกุมไว้เป็นพยานสำคัญ

เหตุรุนแรงเกิดขึ้นสองวันก่อนหน้าพิธีเปิดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันจันทร์(3 มี.ค.) และการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติในวันพุธ(5 มี.ค.) ซึ่งเป็นช่วงอ่อนไหวทางการเมืองแห่งปี รัฐบาลจะระดมมาตรการรักษาเสถียรภาพ
หญิงจีน (กลาง) หมดเรี่ยวแรงเอนตัวพิงไหล่ญาติหลังจากที่สามีถูกสังหารโหดด้วยมีดของกลุ่มคนร้ายที่โจมตีไล่แทงผู้คนที่สถานีรถไฟคุนหมิงเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2557(ภาพ เอเอฟพี)
ทว่า ในวันที่รัฐบาลพยายามแสดงภาพสวยงามของประเทศชาติ ขณะที่ผู้แทนประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลมายังเมืองหลวงในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ เมืองคุนหมิงประชาชนได้หลั่งไหลมาไว้อาลัยเหยื่อที่ต้องสังเวยชีวิตแก่ความขัดแย้งอันไม่รู้จบสิ้น

“...เราตั้งใจมาไว้อาลัยด้วยใจจริง แสดงความเศร้าสลด เสียใจและโกรธ มันกะทันหันจริงๆ เราไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนเลย” อู๋ ปั๋ว แรงงานอพยพจากมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ผู้กำลังมาหางานทำในคุนหมิง กล่าว
ภาพเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2557 นาง โจว เพ่ย วัย 28 ปี ร้องไห้ข้างศพของสามีที่เสียชีวิตในเหตุคนร้ายไล่แทงผู้คนที่สถานีรถไฟคุนหมิง (ภาพ เอพี)
ขณะที่ชายวัย 53 ปี ที่มาร่วมไว้อาลัย กล่าวว่าเขาเศร้าเสียใจมากแต่ก็ขอให้ประชาชนตั้งคำถามรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาในซินเจียงด้วย

“ไม่เคยมีใครบอกเราเลยว่า ทำไมจึงเกิดความรุนแรงมากมายที่นั่น...

“รัฐบาลของเราปฏิบัติต่อคนท้องถิ่นในซินเจียงอย่างโหดเหี้ยมเหมือนอย่างที่พวกเขาได้กระทำต่อพวกเราอย่างนั้นหรือ? รัฐบาลของเราทำอะไรที่นั่น ที่ก่อความเคียดแค้นชิงชังรุนแรงเช่นนี้?” เขาถาม
เด็กหญิงน้อยๆมองเจ้าหน้าที่จากกองกำลังกึ่งทหาร สะพายปืนตบเท้าลาดตระเวนตามท้องถนนบริเวณใกล้สถานีรถไฟคุนหมิงเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2557 (ภาพ รอยเตอร์ส)
คำบอกเล่าการสังหารอันสยดสยอง
นาย ซุ่น เจี้ยนจวิน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลประชาชนที่สามประจำนครคุนหมิง บอกเล่าแก่ผู้สื่อข่าวจีนว่า โรงพยาบาลได้รับผู้บาดเจ็บจากเหตุไล่แทงฯ 36 คน โดย 7 คน ได้เสียชีวิตระหว่างทาง ในกลุ่มผู้บาดเจ็บ ที่อายุน้อยสุด 19 ปี และอายุมากสุด 70 ปี และผู้บาดเจ็บรายหนึ่งที่อาการน่าห่วงมาก คือหญิงท้องแก่ 6 เดือน แพทย์บอกว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตแต่ไม่แน่ใจว่าเธอจะคลอดบุตรอย่างปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากเธอเสียเลือดมาก

“ผู้บาดเจ็บถูกแทงมากกว่าหนึ่งครั้ง มีดคมมาก ยาวอย่างน้อย 50 ซม.” ซุ่น กล่าว

บุรุษพยาบาลวัย 25 ปีของโรงพยาบาลเดียวกันนี้ เล่าว่ามีผู้เสียชีวิต 5 คน ในห้องฉุกเฉินเมื่อคืนวันเสาร์ “พวกเขาถูกแทงที่หัวใจ ที่คอ กลางศีรษะ พื้นห้องเต็มไปด้วยเลือด...คนงานเข้ามาถูทำความสะอาด แป๊บเดียว…พื้นก็นองไปด้วยเลือดอีก”

จากเหตุรุนแรงที่ปักกิ่ง ถึงคุนหมิง กลุ่มลัทธิก่อการร้ายเปลี่ยนกลยุทธและเป้าโจมตี
เขตปกครองตัวเองชนชาติอุยกูร์มณฑลซินเจียง อยู่ด้านตะวันตกสุดของแผ่นดินใหญ่ ชายแดนติดกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ชนชาติอุยกูร์ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน พูดภาษาเตอร์กิค (Turkic) มุสลิมอุยกูร์เคยประกาศรัฐ “เตอร์กิสถาน ตะวันออก” ในปี ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) และค.ศ. 1949(พ.ศ.2492) แต่ในที่สุด ผู้นำคอมมิวนิสต์ก็ได้ประกาศผนวกดินแดนเป็นเขตปกครองตัวเองแห่งหนึ่งของจีน

ผู้นำจีนเชื่อว่ากลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในซินเจียง กำลังเคลื่อนไหวอิสรภาพ “เตอร์กีสถาน ตะวันออก” โดยมีหัวหอกคือกลุ่มอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก หรือ ETIM ซึ่งทั้งจีน สหรัฐฯ และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขึ้นบัญชีดำ ETIM เป็นลัทธิก่อการร้าย
ภาพเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2557 ชายชาวคุนหมิงถือโปสเตอร์ที่เขียนสโลแกนปลุกการต่อสู้ต่อต้านกลุ่มลัทธิก่อการร้ายที่บริเวณนอกสถานีรถไฟคุนหมิง (ภาพ เอพี)
เหตุรุนแรงสุดในรอบสิบปี คือการปะทะระหว่างชนชาติอุยกูร์และชาวจีนฮั่นในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของซินเจียงเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2552 ข้อมูลรัฐระบุผู้เสียชีวิต เกือบ 200คน บาดเจ็บกว่า 1,600 คน ผู้ก่อเหตุอย่างน้อย 26 คน ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

ผู้นำจีนยิ่งระดมกำลังคุมเข้มความสงบเรียบร้อยในซินเจียง ทั้งมีรายงานข่าวการประหารชีวิตชาวอุยกูร์ในความผิดก่อความรุนแรงออกมาอย่างไม่ขาดสาย แต่เหตุจลาจลและการโจมตีก็มีแต่แรงขึ้นๆ สำนักข่าวของทางการจีนรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตราว 100 คน ซึ่งรวมทั้งตำรวจ นับตั้งแต่เดือนเม.ย 2556

เหตุรุนแรงที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งในซินเจียงยังได้ลุกลามออกนอกภูมิภาค เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว(2556) สมาชิกครอบครัวอุยกูร์สามคนได้ขับรถพุ่งชนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน มีผู้เสียชีวิต 2 คน ผู้บาดเจ็บมากกว่า 10 คน จากนั้นก็ได้จุดไฟเผารถยนต์ที่พวกเขานั่งอยู่ และอีกเช่นเคยทางการระบุเป็นการโจมตีพลีชีพโดยลัทธิก่อการร้าย เหตุรุนแรงนี้เกิดขึ้น 10 วันก่อนหน้าการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์
ภาพเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2557หญิงชาวอุยกูร์ที่กำลังตั้งครรภ์แก่ยืนมองสามีปิ้งเนื้อแพะที่แผงขายอาหารในนครคุนหมิง  ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้กลุ่มคนร้ายที่ไล่แทงคนที่สถานีรถไฟคุนหมิงพยายามที่จะสร้างความหวาดระแวงชิงชันระหว่างชาวฮั่นและอุยกูร์(ภาพ เอพี)
“กลุ่มก่อการร้ายได้ใช้ทุกวิถีทางที่จะแผ่ขยายความตื่นตระหนกในสังคม...ทั่วประเทศจีน” พาน จื้อผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิก่อการร้ายที่สถาบันการศึกษาสังคมศาสตร์ซินเจียง (Xinjiang Social Science Academy) “และจังหวะเวลาของการโจมตีที่คุนหมิงก็อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มลัทธิก่อการร้ายต้องการที่จะสร้างผลกระทบมากที่สุดเท่าที่ทำได้”

“ขณะที่มีการคุมเข้มความปลอดภัยในเมืองหลวงปักกิ่ง ซินเจียง และมณฑลรอบๆ แต่ที่คุนหมิง ซึ่งตั้งอยู่ไกลออกไป 1,000 กิโลเมตรนั้น มีมาตรการป้องกันน้อยกว่า ไม่มีใครคาดคิดการโจมตีจะเกิดขึ้นที่นี่”

กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิฯชี้ปมความขัดแย้งในซินเจียงมาจากการกดขี่ทางวัฒนธรรม ศาสนา มาตรการความมั่นคง และการผลักดันชาวจีนฮั่นแห่เข้าไปทำงานในซินเจียง ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรเหมือง จนชาวอุยกูร์รู้สึกแรงมากขึ้นทุกทีว่าชาวฮั่นกำลังเข้ามายึดครองเศรษฐกิจในถิ่นของตน

กลุ่มรณรงค์สิทธิชาวอุยกูร์เสนอว่ารัฐบาลควรแก้ไขปมปัญหาความไม่พอใจของคนท้องถิ่น มากกว่าเอาแต่ประณามลัทธิก่อการร้าย ไล่ล่ากำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
ผู้โดยสารบริเวณนอกสถานีรถไฟคุนหมิงวันที่ 2 มี.ค.2557  ฉากหลังเป็นป้ายประชาชนสัมพันธ์ “ความฝันจีน” ที่ผู้นำจีนกำลังรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสร้าง (ภาพ เอพี)
Sautman กล่าวว่า “นอกจากมาตรการลดช่องว่างรายได้ในซินเจียง รัฐบาลกลางควรแต่งตั้งชาวอุยกูร์กินตำแหน่งใหญ่ในท้องถิ่น อาทิ เลขาธิการพรรคฯ เนื่องจากชาวอุยกูร์เท่านั้นที่อาจจัดการเรื่อง (ประชาชน)พวกเขาได้ดีกว่า”

หลี่ เหว่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามลัทธิก่อการร้ายประจำสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งจีน กล่าวว่ากลุ่มคนร้ายที่ไล่แทงคนที่สถานีรถไฟคุนหมิงพยายามที่จะสร้างความหวาดระแวงชิงชันระหว่างชาวฮั่นและอุยกูร์.


กำลังโหลดความคิดเห็น