xs
xsm
sm
md
lg

จีนสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเป็น ‘สิงห์อมควัน’ ในพื้นที่สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพ - เอเยนซี)
เอเยนซี - จีนเตือนเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “แบบอย่าง” ที่ดี ไม่แปลงร่างเป็น “สิงห์อมควัน” กลางที่สาธารณะ รักษาภาพพจน์ข้าราชการของชาติ

สื่อทางการจีนอ้างอิงหนังสือเวียนที่ออกโดยคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์และคณะมุขมนตรี (รัฐบาล) ของจีน ระบุคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนสูบบุหรี่ภายในสถานศึกษา สถานพยาบาล สถานกีฬา ยานพาหนะขนส่งมวลชน หรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งมีการสั่งห้ามสูบบุหรี่อยู่อย่างชัดเจน

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังห้ามใช้เงินงบประมาณจัดซื้อบุหรี่ยาสูบ ห้ามการสูบหรือเสนอให้บุหรี่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่กิจราชการ ขณะเดียวกันการจัดจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบจะไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำภายในสถานที่ราชการอีกต่อไป

ขณะเดียวกันให้ดำเนินการติดตั้งป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” ภายในห้องประชุม ห้องรับรอง ห้องอาหาร ห้องพักผ่อน และทางเดินของอาคารสำนักงานอย่างชัดเจน

“การสูบบุหรี่ของเจ้าหน้าที่รัฐในที่สาธารณะไม่เพียงส่งผลอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนข้างเคียง แต่ยังบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่พรรคฯ เจ้าหน้าที่รัฐบาล และผู้นำประเทศอีกด้วย” หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวชี้แจง

ทั้งนี้ จีนนับเป็นชาติผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้ายาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก จากสถิติล่าสุดพบว่าจำนวนสิงห์อมควันแดนมังกรพุ่งสูงเกิน 300 ล้านคนแล้ว โดยเกินครึ่งหนึ่งเป็นประชากรชาย ขณะที่ผู้คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่อีกอย่างน้อย 740 ล้านคนทั่วประเทศจำต้องทนรับผลกระทบจาก “ควันบุหรี่มือสอง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในปี 2546 จีนได้ลงนามใน “กรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ” หรือเอฟซีทีซี (Framework Convention on Tobacco Control: FCTC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยกรอบอนุสัญญาฯ ดังกล่าวเรียกร้องให้จีนสรรหาวิธีการลดทอนกระบวนการผลิตและการบริโภคยาสูบทุกประเภท ซึ่งเวลานั้นจีนมีการผลิตบุหรี่ราว 175 ล้านล้านมวนต่อปี

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างวิจารณ์ว่าความพยายามของรัฐบาลจีนยังอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานของเอฟซีทีซี โดยรายงานของ WHO ในปี 2555 ชี้ว่า ปริมาณการผลิตบุหรี่ในจีนกลับเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 258 ล้านล้านมวน และ “สอบตก” ที่จะควบคุมการสูบบุหรี่ โดยพบว่ามีสถานที่สาธารณะแค่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลและสถานศึกษา จากทั้งหมด 16 แห่งที่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น