เอเยนซี - จีนประกาศยุบ “ค่ายแรงงาน” อันอื้อฉาวสังคม พร้อมผ่อนคลาย “นโยบายลูกคนเดียว” อย่างเป็นทางการ ตอบรับแนวทางการปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญ
ซินหวา สื่อทางการจีน รายงาน (28 ธ.ค.) ว่า คณะกรรมการบริหารประจำสภาผู้แทนประชาชน (NPC) ของจีน ได้มีมติอย่างเป็นทางการในการยกเลิก “ระบบค่ายแรงงาน เพื่ออบรมการศึกษาใหม่” (re-education through labor system) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2500 ซึ่งยกอำนาจสิทธิ์ขาดแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมและสั่งลงโทษคุมขังผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไว้ในค่ายแรงงานได้นานถึง 4 ปี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากสำนักงานศาลยุติธรรม สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนและบ่อนทำลายหลักนิติธรรมอยู่ตลอดมา
ภายใต้แผนนโยบายใหม่ที่รับรองโดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติของจีน ซึ่งเริ่มอภิปรายมาตั้งแต่วันจันทร์ (23 ธ.ค.) และสิ้นสุดลงวานนี้ (28 ธ.ค.) จะมีผลให้เหล่านักโทษที่ยังอยู่ในค่ายแรงงานได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระทั้งหมด
“ค่ายแรงงานเป็นเรื่องน่าอับอายของจีน” หวง เชิงเชิง ชายชาวฉงชิ่งวัย 31 ปี ที่ถูกกักตัวเป็นเวลากว่า 2 ปีในค่ายแรงงานท้องถิ่น หลังเขาโพสต์ข้อคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับกระแสการปฏิวัติของโลกอาหรับ (Arab Spring) ที่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ
“ผมดีใจและมีความสุขมากในวันนี้ วันที่มัน (ค่ายแรงงาน) ถูกขจัดทำลายลงไปจนหมดสิ้น”
อย่างไรก็ดี กลุ่มแอมเนสตี้ (Amnesty International) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้เผยแพร่รายงานประจำเดือน ธ.ค. ระบุว่า แม้ทางการจีนจะสั่งยกเลิกระบบค่ายแรงงานลงไปแล้ว แต่ก็พบระบบการตัดสินลงโทษในรูปแบบอื่นๆ เช่น “คุกมืด”, “การใช้ยาเพื่อการบำบัดฟื้นฟู” และ “ศูนย์ล้างสมอง” มาใช้ทดแทน
นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ยังได้สนับสนุนมาตรการผ่อนปรน “นโยบายลูกคนเดียว” ที่ใช้มานานกว่า 30 ปีลงอีกด้วย โดยจีนจะอนุญาตให้คู่สามี ภรรยาสามารถมีลูก 2 คนได้ภายใต้เงื่อนไขที่สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกคนเดียว
ทั้งนี้ แผนการผ่อนปรนดังกล่าวบังเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสัดส่วนประชากรภายในประเทศที่มีแนวโน้มว่า ชาวจีนวัยทำงานจะมีจำนวนลดลงจนสวนทางกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
“การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำระดับสูงเริ่มทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนจีน” หวัง อี้วไค่ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันบริหารกิจการบ้านเมืองแห่งชาติจีน กล่าว
“สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ... ก้าวแรกที่มั่นคงย่อมนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่น่ายินดียิ่งขึ้น”