xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันเปิดตัวเครื่องบินปราบเรือดำน้ำพิสัยไกลลำแรก ไล่หลังจีนโชว์เรือดำน้ำนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบกี หม่า อิงจิ่ว  แถลงระหว่างพิธีเปิดตัวหลังจากได้รับมอบ เครื่องบินลาดตระเวนและปราบเรือดำน้ำ P-3C Orion จากบริษัทล็อคฮีต มาร์ติน แห่งสหรัฐอมเริกา พิธีเปิดตัวฯนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2556 ที่  ฐานทัพเมืองผิงตง ตอนใต้ของเกาะไต้หวัน (ภาพ เอเอฟพี)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--ไต้หวันโชว์เครื่องบินปราบเรือดำน้ำระบบปฏิบัติการระยะไกลลำแรกของดินแดน ไล่หลังไม่กี่วันที่จีนใหญ่เผยโฉมฝูงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

เมื่อวานนี้(31 ต.ค.) กองทัพไต้หวันได้ทำพิธีเปิดตัวเครื่องบินลาดตระเวนและปราบเรือดำน้ำ (submarine-hunting aircraft) รุ่น พี 3 โอไรออน (P-3C Orion) ที่ฐานทัพในอำเภอพิงตง ตอนใต้ของเกาะ โดยมีประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว เป็นประธานพิธีฯ

ทั้งนี้ เครื่องบินปราบเรือดำน้ำ รุ่น พี 3 โอไรออน ติดตั้งระบบปฏิบัติการระยะไกล ผลิตโดยบริษัท ล็อคฮีต มาร์ติน แห่งสหรัฐอเมริกา

กองทัพอากาศไต้หวันเผยว่า กองทัพได้รับมอบเครื่องบินปราบเรือดำน้ำฯลำนี้ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ปลายปีนี้ ก็จะมีการส่งมอบเครื่องบินฯรุ่นนี้ อีก 3 ลำ และอีก 8 ลำ ภายในปี 2558

ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว กล่าวว่า ฝูงบิน P-3C “เป็นฝูงบินที่มีประสิทธิภาพล้ำสมัยที่สุดในกลุ่มเครื่องบินฯนับร้อยของหลายๆประเทศ”

“ผมเชื่อว่าหลังจากเครื่องบินฯได้เข้าประจำการกองทัพอากาศแล้ว จะช่วยยกระดับความสามารถการโจมตีทางอากาศ การต่อสู้ระหว่างเรือรบ การปราบเรือดำน้ำ”

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า P-3C สามารถเหินอยู่กลางอากาศนานถึง 17 ชั่วโมง และติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีโจมตีเรือ ฮาร์พูน (Harpoon) และตอร์ปิโด MK46 ด้วยความสามารถเหล่านี้จะเพิ่มระยะการลาดตระเวนของกองกำลังปราบเรือดำน้ำไต้หวัน ดีขึ้นถึง 10 เท่า

ฝูง P-3C มีสนนราคา ประมาณ 1,960 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเข้าประจำการแทนที่ เครื่องบินปราบเรือดำน้ำ S-2T ซึ่งเป็นรุ่นเก่า

การจัดพิธีเปิดตัวเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ P-3C เมื่อวันพฤหัสฯ(31 ต.ค.) ของกองทัพไต้หวัน เป็นไปอย่างเอิกเกริก โดยก่อนหน้าบรรดาสื่อจีน ซึ่งล้วนเป็นของรัฐ ได้ประโคมข่าวพาดหัวใหญ่ เผยเรื่องราวฝูงเรือดำน้ำ ที่ประจำการมา 40 ปี ประกาศแสนยานุภาพอันแข็งแกร่งทางทะเลของกองทัพมังกร

“กองทัพจีนแข็งแกร่งด้วยสมรรถนะการโต้ตอบการโจมตีของอาวุธนิวเคลียร์ที่เชื่อถือได้” สื่อจีน โกลบอล ไทมส์ ระบุไว้ในบทบรรณาธิการที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร(29 ต.ค.)

ทั้งนี้ จีนและไต้หวัน เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกันมาร่วม 60 ปี หลังจากที่ผู้นำเจียง ไคเช็ค แพ้สงครามกลางเมืองในปี 2492 และถอยร่นไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน จัดตั้งรัฐบาลแยกต่างหาก ความสัมพันธ์ทั้งสองดีขึ้น เมื่อผู้นำ หม่า อิงจิ่ว เป็นประธานาธิบดีในปี 2551 และดำเนินนโยบายกระชับสัมพันธ์กับจีน หม่าได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง เมื่อปีที่แล้ว(2555)

อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งยังคงยืนกรานว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่จะต้องกลับมารวมชาติในที่สุด แม้จะต้องใช้กำลังเข้ายึดครองก็ตาม ด้วยเหตุนี้ไต้หวันจึงยังคงเดินหน้าพัฒนาความทันสมัยกองทัพ แม้ความสัมพันธ์กับจีนสดใสขึ้นมากแล้วก็ตาม

“แม้ความสัมพันธ์กับจีนดีขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีมานี้ แต่จีนก็ยังคงระดมขีปนาวุธที่เล็งเป้าหมายมายังไต้หวัน เราจึงไม่อาจผ่อนเพลาการเตรียมพร้อมการสู้รบ” หม่า กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ไต้หวันมีเป้าหมายปรับปรุงกองทัพขนาดเล็กแต่ทรงพลานุภาพในการป้องกันดินแดน

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน ประมาณว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ได้ระดมขีปนาวุธที่เล็งเป้าหมายมายังไต้หวัน มากกว่า 1,600 ลูก.
ประธานาธิบกี หม่า อิงจิ่ว  แถลงระหว่างพิธีเปิดตัวหลังจากได้รับมอบ เครื่องบินลาดตระเวนและปราบเรือดำน้ำ P-3C Orion จากบริษัทล็อคฮีต มาร์ติน แห่งสหรัฐอมเริกา พิธีเปิดตัวฯนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2556 ที่  ฐานทัพเมืองผิงตง ตอนใต้ของเกาะไต้หวัน (ภาพ เอเอฟพี)

นายทหารแห่งกองทัพอากาศไต้หวัน ยืนหน้าโปสเตอร์ เครื่องบินลาดตระเวนและปราบเรือดำน้ำ P-3C Orion ระหว่างพิธีเปิดตัวเครื่องบินฯP-3C  ที่ฐานทัพเมืองผิงตง ตอนใต้ของเกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น