Astvผู้จัดการออนไลน์ - เกิดกระแสนิยมกิน “ขนมควันวิเศษ” ในหมู่นักเรียนประถมในประเทศจีน โดยต้องใช้หลอดดูดขนมที่เป็น “ผงแป้งสีขาว” ซึ่งทำให้เกิดควันในปาก นักจิตวิทยาชี้การกินขนมชนิดนี้อาจชักจูงเด็กไปสูบบุหรี่หรือใช้ยาเสพติด ด้านชาวเน็ตโจมตีการกินขนมที่มีวิธีการกินคล้ายการพี้ยาฯนี้ จะบิดเบือนความคิดเด็กๆ ไปว่า “การเสพยาเสพติดก็คือได้กินขนมอร่อยๆ”
ซั่งไห่เดลี่ (Shanghaiist.com)สื่อท้องถิ่นมหานครเซี่ยงไฮ้ รายงานว่า ขณะนี้มีกระแสเด็กเล็ก ซึ่งเรียนชั้นประถมศึกษาในเมืองอี๋ว์หลิน มณฑลส่านซี ชอบกินขนม "หมัวเยียน" หรือ “ขนมควันวิเศษ” (魔烟) ซึ่งมีวิธีการกินที่คล้ายการเสพยา คือ ต้องใช้หลอดดูด “ขนมผงแป้งสีขาว” ซึ่งจะทำปฏิกิริยาเกิดเป็นควันขึ้นในปาก
นักจิตวิทยานายเหอ เผยหรง กล่าวว่า การที่เด็กเล็กนิยม “ขนมควันวิเศษ” อาจปลูกฝังความคิด “การสูบบุหรี่และเสพยาไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เด็กเล็กเป็นวัยที่ซึมซับสิ่งต่างๆได้ง่ายดาย และมีพฤติกรรมชอบเลียนแบบสูง อีกทั้งยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการแยกแยะถูก-ผิด หากลองผิดครั้งหนึ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในอนาคตได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรให้คำแนะนำแก่บุตรหลาน”
“ขนมควันวิเศษ จำหน่ายชิ้นละ 5 หยวน (ราว 25 บาท) และขายได้ถึงวันละ 40 แพ็ค” เจ้าของร้านชำแห่งหนึ่งในเมืองอี๋ว์หลิน เผย
ผู้สื่อข่าวสื่อท้องถิ่นในนครก่วงโจว มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) หยังเฉิงหวั่นเป้า (羊城晚报)ยังได้ไปเจาะข่าว “ขนมควันวิเศษ” ตามโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ในเมืองตงก่วน ที่ร้านค้าเล็กๆใกล้กับโรงเรียนประถมก่วนเฉิง ผู้สื่อข่าวก็เห็น “ขนมควันวิเศษ” กองใหญ่วางโชว์หราที่ชั้นวางสินค้าแถวหน้าสุดของร้าน เจ้าของร้าน นาง หลี่ บอกว่า “ขนมชนิดนี้ขายดีมาก”
จากนั้น เจ้าของร้านก็ได้ชี้ไปที่ข้างๆ “ขนมควันวิเศษ” เป็นขนมบรรจุกล่องที่มีรูปทรงคล้ายกล่องบุหรี่ “ขนมนี้ คล้ายหมากฝรั่ง เด็กชอบกันมาก”
ขณะที่ผู้ปกครองรายหนึ่ง เมื่อเห็นลูกกินขนมชนิดนี้ บอกว่า “รู้สึกเหมือนลูกกำลังเสพยาเสพติด”
ด้านบริษัทก่วงตงเฮ่าลี่หยวน ( 广东好利源食品有限公司) ผู้ผลิต “ขนมควันวิเศษ” กล่าวถึงการออกแบบขนม เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจ
ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมหยังกวงจงซินในมณฑลก่วงตง กล่าวว่า หากขนมที่วางจำหน่ายอยู่บริเวณรอบโรงเรียนมีพิษภัยแอบแฝง ก็พร้อมที่จะช่วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอดส่องดูแล
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ในสหรัฐฯ ครอบคลุมการศึกษาใน 5 ชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และรัสเซีย พบว่า เด็กจีนอายุระหว่าง 5-6 ขวบ โดยคิดเฉลี่ย 9 ใน 10 คน สามารถจำยี่ห้อบุหรี่ และ จำนวนสิงอมควันในประเทศจีน มีสัดส่วน เท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในโลก