เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เขาคือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตัวจริง มิใช่เก่งแต่ใช้ฝีปากกล้าบนเวทีปลุกระดม
“สุ่น เหวินก่วง” ผู้อาวุโส ผมขาวโพลน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย วาจาสุภาพนุ่มนวล
สุ่นเดินเข้าคุกครั้งแรกเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน และปัจจุบันเป็นนักรณรงค์เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ที่มีอายุมากที่สุดคนหนึ่งบนแดนมังกร
ชายชราเคยถูกผู้พิทักษ์สันติราษฎรเมืองจีนประเคนกำปั้นและกระทืบบาทา จนกระดูกซี่โครงหักไป 4 ซี่ มันเป็นการจ่ายค่าชดใช้สำหรับการขัดขืนอำนาจรัฐ ที่อยุติธรรมมาตลอดชีวิต แต่ไม่มีสักวัน ที่เขาคิดจะรามือ
จุดเปลี่ยน ซึ่งทำให้สุ่นในสมัยที่ยังเป็นอาจารย์หนุ่มสอนวิชาฟิสิกส์และเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย หันมาเป็นฝ่ายต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คือความทุกข์ยากหิวโหย ที่เกิดจากนโยบายพุ่งกระโดดล้ำหน้า (Great Leap Forward) ในช่วงปี 2501-2504 และการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงปี 2509-2519 ของประธานเหมา เจ๋อตง
สุ่นถูกตราหน้าว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติเหมือนอีกหลายคน เขาถูกจับขังคุกชั่วคราวภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จากนั้น ถูกส่งไปใช้แรงงานในค่ายกักกันอยู่นาน 7 ปี ตั้งแต่ปี 2517
ช่วงนั้นเอง ที่ทำให้มีเวลาครุ่นคิดมากขึ้นถึงปัญหาของชาติบ้านเมืองว่า จะทำอย่างไรให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
“ถ้าประเทศชาติและสังคมมีปัญหามากมายใหญ่หลวงเช่นนี้ คุณคนเดียวจะแก้ไขเพียงลำพัง มันไม่สำเร็จหรอก” ชายชราให้ข้อคิด
ปัญญาชนผู้ทรนงถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2524 เวลานั้นจีนเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้มีเสรีภาพอะไร นอกเสียจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 ต่อมา ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามนองเลือด
ทุกวันนี้ สุ่นถูกกักบริเวณภายในอพาร์ตเมนต์ และในเวลาที่ล่อแหลมจะถูกคุมแจตลอด 24 ชั่วโมง เช่นระหว่างการไต่สวนคดีคอร์รัปชั่นของนายปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขานครฉงชิ่งในเมืองจี๋หนัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้คุมจะยืนเฝ้าที่หน้าประตูอพาร์ตเมนต์ ไม่ยอมอนุญาตแม้กระทั่งการเปิดประตู
แต่สุ่น ซึ่งจะมีอายุครบ 80 ปีในเดือนตุลาคม ยังคงมีวิธีประท้วงอำนาจรัฐอย่างง่ายๆ และคอยหาทางหลบหนีผู้คุมเหมือนแมวไล่จับหนู
“ ในสายตาของพวกเขา ผมมันก็ไอ้คนบัดซบ ที่จะไม่ยอมหยุด” ชายชราหัวเราะหึ ๆ กลางดึกวันหนึ่ง เมื่อผู้คุมเดินออกไปแล้ว
“ถ้าหากสิทธิของผมถูกละเมิด ผมก็ต้องต่อสู้ ผมจะยอมละทิ้งสิทธิอันพึงมีของตนเองไปไม่ได้” เขายืนยันหนักแน่น
ทุก ๆ ปี สุ่นจะหาทางล่อหลอกหนีผู้คุม ออกไปร่วมกิจกรรมรำลึกวันครบรอบเหตุการณ์นองเลือด 4 มิถุนายน ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน และรำลึกวันครบรอบการเสียชีวิตของนายเจ้า จื่อหยัง อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ โทษฐานเข้าข้างฝ่ายผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
เมื่อปี 2552 กระดูกซี่โครงต้องหักไป 4 ซี่ หลังจากเขาเล็ดลอดจากหมู่ผู้คุม ที่แห่กันมาที่อพาร์ตเมนต์ สุ่นหนีไปที่สวนสาธารณะ แล้วประกาศเชิดชูนายเจ้า แต่ไม่นานนัก ก็ถูกลากถูลู่ถูกัง และถูกรุมยำจนน่วม
“มีคนอยู่แถวนั้นเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครเข้ามาห้ามเลย” ผู้อาวุโสเล่า
ก่อนจะถึงวัน ที่ 4 มิถุนายนในปีนี้ สุ่นจึงคิดหาวิธีหลบหนีใหม่ โดยแกล้งทำเป็นออกไปว่ายน้ำทุกวัน จนพวกผู้คุมเบื่อจะตามไป
สุ่นจึงมีโอกาสพบกับเหล่าสหายตาม ที่นัดแนะกันไว้ จากนั้น นักต่อสู้รุ่นเก๋าก็ไม่รอช้า รีบกางผืนธงประท้วงพรรคคอมมิวนิสต์หราต่อหน้าสาธารณชนในทันที
ทัศนะทางการเมืองของสุ่นปรากฎอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ซึ่งวิจารณ์การปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ และการสนับสนุนเรียกร้องให้จีนมีการเลือกตั้งอย่างเสรี
หนังสือเล่มแรกในปี2545 เป็นการรวบรวมบทความ ที่เขียนขึ้น ขณะอยู่ในเรือนจำ บางเรื่องเขียนบนกระดาษชำระ โดยดึงเศษไม้รวก ที่สานเป็นเตียงนอน ออกมาใช้แทนปากกา มีซอสถั่วเหลืองเป็นน้ำหมึก
ทว่าพอหนังสือเล่มที่ 2 ออกจำหน่ายที่ฮ่องกงในอีก 2 ปีต่อมา สุ่นก็ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกแผ่นดินใหญ่
ในปี 2550 และปี 2554 สุ่นลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น แม้ตระหนักดีว่า เป็นสภาตรายาง และไม่ใช่การจัดการเลือกตั้งอย่างแท้จริง
ตำรวจรุดมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดด้วยการฉีกโปสเตอร์หาเสียงของเขา และสั่งห้ามเข้าไปหาเสียงในบริเวณมหาวิทยาลัย ที่เขาเคยสอนหนังสือ
มายา หวัง นักวิจัยด้านเอเชียของกลุ่มฮิวแมน ไรต์ส ว็อตช์ อธิบายว่า สุ่นอยู่ในสำนักของนักเคลื่อนไหวชาวจีนรุ่นเก่า ที่ออกมายั่วยุทางการและเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างซึ่งหน้า ขณะที่นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่จะลดการเผชิญหน้า แต่หันมาต่อสู้ โดยพยายามยืนยันหลักกฎหมายที่มีอยู่
ความทรหดในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของอาจารย์สุ่นได้รับการนับถือ เลื่อมใสจากบรรดานักต่อสู้รุ่นหลัง
ความคิดและการกระทำของเขากลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับผู้ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์
“ นับจากรุ่นของอาจารย์สุ่นมา มีคนที่ยังคงทำเช่นนี้หาได้ยากมาก” เธอกล่าว
สุ่นมีความเชื่อว่า ถ้ามีชาวจีนเข้ามาร่วมกันมากขึ้น เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะต้องยอมก้มหัวให้แก่ประชาธิปไตย
“การปฏิรูปการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์… ถ้าพวกเขาไม่ทำตอนนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็อาจไปไม่รอด” สุ่นกล่าว
“หนทางข้างหน้าในที่สุดแล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์” ผู้อาวุโสจอมทรหดเชื่อมั่น