xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มจีนวัยละอ่อนพ้นคุก หลังถูกจับข้อหา "ก่อความวุ่นวาย" บนโลกออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หวัง ซือหวา (ซ้าย) และโหยว เฟยจู้ (ขวา) สองนักกฎหมายที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่ถูกจับกุมจากข้อหา ก่อเหตุวุ่นวาย บนโลกออนไลน์จีน (ภาพ - เวยปั๋ว)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ช่วงเช้าของวันจันทร์ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา ชาวเน็ตแดนมังกรพากันแชร์รูปภาพเด็กหนุ่มแซ่หยัง อายุ 16 ปี ที่ยืนชูสองนิ้วเป็นสัญลักษณ์ตัววีแทนวลีภาษาอังกฤษ “V for victory” และสวมเสื้อคลุมตัวนอกที่ปรากฏข้อความ “Make the change” หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องคุมขังของสถานีตำรวจเมืองจังจยาชวน มณฑลกานซู่ เมื่อช่วงเช้ามืดของวันเดียวกัน
เด็กหนุ่มแซ่หยัง วัย 16 ปี ยืนถ่ายรูปชูสองนิ้ว หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงเช้ามืดของวันจันทร์ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา (ภาพ - เวยปั๋ว)
รายงานข่าว (23 ก.ย.) กล่าวว่า นายหยัง ฮุ้ย วัย 16 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัวตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก่อน หลังจากเขาได้เขียนแสดงความเห็นถึงขั้นตอนการสืบสวนกรณีการเสียชีวิตของผู้จัดการบาร์คาราโอเกะท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งข้อความดังกล่าวได้มีชาวเน็ตกดแชร์ส่งต่อกันไปมากกว่า 500 ราย ทำให้นายหยังตกอยู่ในความผิดตามกฎหมายควบคุมสังคมออนไลน์ฉบับล่าสุดที่ทางการจีนเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้

อนึ่ง ข้อกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.ย. ระบุถึงการโพสต์ข้อความออนไลน์ที่มีนัยยะหมิ่นประมาทหรืออาจก่อความวุ่นวาย รวมถึงถูกส่งต่อเกินกว่า 500 ครั้ง หรือมีการเข้าชมมากกว่า 5,000 ครั้ง อาจทำให้เจ้าของข้อความมีความผิดและต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป

โดยก่อนหน้านี้ นายโหยว เฟยจู้ และนายหวัง ซือหวา สองนักกฎหมายชื่อดัง ที่ออกมาคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ได้เดินทางไปยังเมืองจังจยาชวน เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวนายหยัง ทั้งยังชักชวนนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงของจีนคนอื่นๆ อีกกว่า 40 คน มาร่วมลงชื่อเรียกร้องการปล่อยตัวเด็กหนุ่มโชคร้ายนี้ด้วย

“ถ้าประชาชนพลเมืองจีนร่วมมือกัน ใครจะมาหยุดยั้งได้” โจว เจ๋อ นักกฎหมายจากกรุงปักกิ่ง หนึ่งในผู้ร่วมสนับสนุน กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นเมืองจังจยาชวนได้ชี้แจงผ่านหน้าบทบรรณาธิการของโกลบอล ไทมส์ สื่อทางการจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “เราควรกระตุ้นคนในสังคมเมือง เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้น ให้ช่วยกันส่งเสริมแผนนโยบายควบคุมโลกออนไลน์ดังกล่าว เพื่อรับมือกับเหล่าปัญญาชนบางส่วน ที่มักชี้นำความคิดเห็นของสาธารณะชนไปในทางที่ผิด”

ขณะที่พีแอลเอ เดลี่ (PLA Daily) สื่อกระบอกเสียงของกองทัพจีน ระบุว่า “การวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นสิ่งที่สลักสำคัญมากนัก เพราะมันมักเต็มไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุและผล … บางประเด็นที่เล็กน้อยก็ทำให้สำคัญขึ้นมา จนกลายเป็นข้อถกเถียงของสังคม และประเทศชาติได้”

“สิ่งนี้อาจเป็นเพียงชัยชนะเล็กๆ ของคนบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริงของสังคมและหลักนิติธรรมของจีน” สี่ว์ ซิน อาจารย์วิชากฎหมายจากกรุงปักกิ่งกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น