เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - แดนมังกรยังคงดำเนินนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายจัง ซูกวง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการรถไฟจีน ก้มหน้ายอมรับผิดต่อข้อกล่าวหากินสินบนมูลค่า 47 ล้านหยวน หรือราว 235 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2543-2554 รวมเวลากว่า 11 ปี
รายงานข่าว (11 ก.ย.) กล่าวว่า ศาลประชาชนชั้นกลาง หมายเลข 2 แห่งกรุงปักกิ่ง แถลงกรณีนายจัง ซูกวง วัย 57 ปี อดีตรองหัวหน้าฝ่ายวิศวกรของกระทรวงการรถไฟ สารภาพผิดต่อกรณีการรับสินบนจำนวนมากกว่า 47 ล้านหยวน หรือราว 235 ล้านบาท ระหว่างปี 2543-2554 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อตู้ขบวนรถไฟและอุปกรณ์อื่นๆ ของกระทรวงฯ
อัยการศาลฯ ชี้แจงว่า นายจังกระทำความผิดทั้งหมด 13 กระทง โดยเริ่มจากเงินสินบนมูลค่า 10.5 ล้านหยวน (ราว 52 ล้านบาท) ในปี 2543 ที่นายหยัง เจี้ยนอี่ว์ อดีตประธานบริหารของบริษัท Zhongche Railway Vehicle Equipment ในก่วงโจว ได้มอบให้เขา หลังการจัดหาตู้ขบวนรถไฟความเร็วสูงที่มีชื่อว่า “ธนูน้ำเงิน” (the Blue Arrow) ซึ่งให้บริการวิ่งระหว่างเมืองก่วงโจวกับเมืองเซินเจิ้นจนถึงปี 2555 ที่ผ่านมา
ซินหวา สื่อทางการจีนเผยอีกว่า นายหยังยังได้จ้างวานภรรยาลับของนายจังด้วยเงิน 16,000 หยวน (ราว 80,000 บาท) ต่อเดือน ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อตอบแทนที่ได้ช่วยเหลือบริษัทของนายหยังอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นายจังปฏิเสธว่า เขามิใช่ผู้มีบทบาทหลักของวงจรทุจริตมโหฬารครั้งนี้ เพียงแต่ “เดินไปตามกระแส” อันเป็นส่วนหนึ่งในระบบของนายหลิว จื้อจวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ที่ปัจจุบันถูกศาลตัดสินโทษรอการประหารชีวิตจากคดีทุจริตและรับสินบนจำนวน 64 ล้านหยวน (ราว 320 ล้านบาท)
อัยการศาลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจังได้รับเงินสินบนมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2547 เมื่อจีนเริ่มดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงตามแผนการพัฒนาและขยายเส้นทางรถไฟในระยะยาวที่สภาแห่งรัฐจีนได้ทำการอนุมัติออกมา
เป่ยจิง อีฟนิ่ง นิวส์ สื่อจีนอีกแห่งรายงานว่า มีบริษัทผู้ประกอบการเอกชนจำนวน 10 ราย และที่มีรัฐเป็นเจ้าของอีก 2 ราย อันได้แก่ China Railway Construction Electrification Bureau Group และ China CREC Railway Electrification Bureau Group ที่ได้เสนอเงินสินบนให้กับนายจังด้วยเช่นกัน
โดยเงินสินบนก้อนใหญ่สุดที่นายจังได้รับนั้น มาจากเจ้าของบริษัทผู้ผลิตและก่อสร้างทางรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งแบ่งจ่ายเงินออกเป็น 3 ครั้ง มูลค่ารวม 18.5 ล้านหยวน หรือราว 92 ล้าน 5 แสนบาท ระหว่างปี 2550-2552
นอกจากนี้ ยังพบว่านายจังมีส่วนพัวพันกับกรณีขู่กรรโชกทรัพย์กว่า 8 ล้านหยวน (ราว 40 ล้านบาท) จากเจ้าของบริษัทผู้ผลิตและก่อสร้างทางรถไฟอีกรายในมณฑลเจียงซู รวมถึงกินเงินสินบนจำนวน 10 ล้านหยวน และ 5 ล้านหยวน จากเจ้าของบริษัทฯ 2 รายตามลำดับ โดยสันนิษฐานว่านายจังต้องการนำเงินไปใช้ในการไต่เต้าเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญภายในสำนักวิชาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนระหว่างปี 2550 และปี 2551
อนึ่ง นายจังนับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงอีกรายที่มีชื่อเสียงดังกระฉ่อนถึงความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติงาน รวมถึงการโยกย้ายครอบครัวของตนเองไปยังต่างประเทศ โดยสื่อจีนหลายแห่งเผยว่า ภรรยาและลูกสาวของเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่คฤหาสน์สุดหรูแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เป็นเวลาล่วงหน้าหลายปีแล้ว
ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของนายจัง ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันอังคาร (10 ก.ย.) ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีกำหนดประกาศคำตัดสินโทษแต่อย่างใด และก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (9ก.ย.) ที่ผ่านมา ทางการจีนเพิ่งดำเนินคดีกับนางติง อี่ว์ซิน หรือติง ซูเหมียว นักธุรกิจหญิงชื่อดัง หลังตรวจพบว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงทุจริตคอร์รัปชั่นของอดีตเจ้ากระทรวงรถไฟจีนด้วยเช่นกัน