รอยเตอร์ส - สื่อจีนเผย ประชากรในประเทศหลายร้อยล้านคน ยังพูด “ภาษาจีนกลาง” ไม่ได้ ส่วนที่เหลืออื่นๆ แม้พูดได้แต่ก็ไร้คุณภาพ ขณะที่นโยบายจากภาครัฐเร่งผลักดันการใช้ภาษาให้ได้มาตรฐาน หวังดำเนินตามเป้าหมายรวมศูนย์ความเป็นชาติอย่างถาวร
รายงานข่าว (5 ก.ย.) อ้างอิงคำแถลงของสี่ว์ เหมย โฆษกหญิงประจำกระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึง สถานการณ์การใช้ภาษาจีนของประชากรแดนมังกรในปัจจุบัน โดยราว 70% มีทักษะการพูดภาษาจีนกลาง ทว่า อีก 30% หรือมากกว่า 400 ล้านคน ยังคงไม่สามารถพูดได้
ภาษาจีนกลาง หรือจีนแมนดาริน (Mandarin) นี้ ถือเป็นภาษาจีน สำเนียงมาตรฐานที่ใช้ในระบบราชการ งานวิชาการ และเหตุทางการต่างๆ อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 6 ภาษาราชการขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (United Nations: UN) ด้วย
โฆษกสี่ว์ เหมย ซึ่งขณะนี้ควบตำแหน่งหัวหน้าโครงการรณรงค์การใช้ภาษาจีนกลาง ที่ก่อตั้งและดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2541 กล่าวว่า “จีนยังคงต้องลงทุนและลงแรงในการส่งเสริมและเผยแพร่ 'ภาษาจีนกลาง' ให้มีมาตรฐานต่อไป”
อนึ่ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามสนับสนุน “ภาษาจีนกลาง” เป็นภาษาพูด สำเนียงมาตรฐานประจำชาติมายาวนานหลายทศวรรษ หวังให้สอดคล้องกับนโยบายรวมประเทศอย่างเป็นระบบ ทว่า ก็ต้องพบอุปสรรคมากมาย เช่น พื้นที่ประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลจนมิอาจควบคุมดูแลได้อย่างเต็มที่ หรือความเคยชินของประชาชนที่ใช้ภาษาจีน สำเนียงท้องถิ่นอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
“ในปี 2556 นี้ กระทรวงฯ จะเพิ่มความสำคัญเรื่องการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะในเขตชนบทห่างไกล ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก” โฆษกรายเดิมกล่าว
อย่างไรก็ดี สี่ว์ ยอมรับว่า “อาจเป็นการยากที่จะทำให้ประชากรทั้งประเทศพูดภาษาจีนแมนดาริน หรือ “ผู่ทงฮว่า” (普通话 - Putonghua) อันหมายถึง ภาษาจีนกลางได้อย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด”
ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว เป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงจากหลายฝ่าย แม้ว่าประชากรสามารถพูดภาษาเดียวกันได้ทั้งประเทศจะเป็นผลดี แต่บางครั้งมันก็นำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ตามมาได้เช่นกัน
โดยในปี 2553 เกิดเหตุชาวจีนนับร้อยออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนในเมืองก่วงโจว มณฑลก่วงตง หลังทางการท้องถิ่นพยายามใช้นโยบายลดบทบาทความสำคัญของภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสำเนียงท้องถิ่นทางภาคใต้ของจีน รวมถึงเหตุการณ์ที่ชาวทิเบตออกมาร้องเรียนกรณีการใช้ภาษาจีนกลางในโรงเรียนท้องถิ่น