เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ชาวจีนยุคใหม่เริ่มพึ่งพาการใช้ “พินอิน” หรือดัดแปลงภาษาจีนกลาง เมื่อใช้คีย์บอร์ด ทว่า ความสามารถในการเขียนตัวอักษรจีนกลับกำลังอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
สืบเนื่องจากกระแสนิยมรายการโทรทัศน์ “Chinese Characters Dictation Competition” ที่ถ่ายทอดผ่านช่องซีซีทีวี (CCTV) อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแข่งขันสะกดคำศัพท์ต่างๆ ในภาษาจีน โดยผู้แข่งขันจะเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวน 32 ทีมจากจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ซึ่งเป้าหมายของรายการคือ การกระตุ้นเตือนให้ชาวจีนใส่ใจในการอ่านและเขียนภาษาจีนให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานอีกจำนวนหนึ่งที่ร่วมรับชมรายการอยู่ภายในห้องส่งของสถานีฯ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ใหญ่กลุ่มนี้ ไม่สามารถเขียนตัวอักษรจีนคำง่ายๆ บางคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยลายมือของตนเองแล้ว นับเป็นผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่า จีนอาจกำลังเผชิญ “วิกฤตทางภาษา” ครั้งใหญ่ก็เป็นได้
รายงานข่าว (20 ส.ค.) กล่าวถึงผลการวิจัยด้านภาษาศาสตร์ต่างๆ ที่สะท้อนปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยของทักษะการเขียนภาษาจีนในหมู่พลเมืองแดนมังกร โดยในเดือน พ.ค. องค์กรที่ปรึกษางานวิจัยโฮริซอน (Horizon Research Consultancy Group) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง สำรวจพบว่ากว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนใน 12 เมืองใหญ่ของจีน ไม่สามารถเขียนตัวอักษรจีน ที่พวกเขาคิดว่ารู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง และอีกกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ถูกสำรวจยอมรับว่า ประสบปัญหานี้บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ
“อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่” กลายเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาดังกล่าว เพราะมันได้นำเสนอวิถีทางใหม่ที่หลากหลายในการเขียนตัวอักษรจีน เช่น การใช้ปากกาสไตลัส (Stylus Pen) หรือนิ้วมือที่ใช้สัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ และที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ วิธีการพิมพ์ “พินอิน” (Pinyin) อันเป็นระบบสัทอักษรโรมันแทนเสียงภาษาจีน
ระบบสัทอักษรโรมันแทนเสียงภาษาจีน หรือพินอิน (Pinyin - 拼音) ในภาษาจีน ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการเขียนภาษาจีนผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้รู้เสียงอ่านของคำศัพท์นั้นๆ ที่ต้องการก็เพียงพอแล้ว ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า มันกลายเป็นตัวกัดกร่อนความทรงจำเกี่ยวกับตัวอักษรจีน โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นตัวอักษรที่มีความซับซ้อน หรือใช้ไม่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ค้นพบว่า นักเรียนจีนจำนวนมากกำลังถลำลึกสู่โลกการอ่าน ที่ต้องพึ่งพา “พินอิน” เป็นหลักเท่านั้น โดยผลงานวิจัยฉบับดังกล่าว ตีพิมพ์ลงในนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ประจำเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จากการทดสอบทักษะการอ่านของนักเรียนโรงเรียนระดับประถมศึกษาจำนวน 5000 แห่งของกรุงปักกิ่ง เมืองก่วงโจว มณฑลก่วงตง และเมืองจี่หนิง มณฑลซานตง พบว่า ผลที่ได้รับต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป และมี “เครื่องมือสื่อสารยุคดิจิตอล” ทั้งหลาย เป็นอุปสรรคใหญ่ที่มาขัดขวางพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กๆ รุ่นปัจจุบัน
หม่า หลง คุณครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนภาษาต่างประเทศแห่งหนึ่งในเมืองหังโจว ได้ร่วมแชร์ปัญหาดังกล่าวนี้ว่า “เด็กๆ มักรู้ว่าตัวอักษรมีความหมายว่าอะไร และรู้ว่าจะต้องอ่านออกเสียงอย่างไร แต่กลับไม่สามารถเขียนมันด้วยลายมือของพวกเขาเองได้อย่างคล่องแคล่วมากนัก”
เห่า หมิงเจี้ยน บรรณาธิการนิตยสารเหย่าเหวินเจี๋ยวจื้อ (Yao wen jiaozi - 咬文嚼字) ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนที่เน้นเนื้อหาด้านภาษาศาสตร์ ระบุว่า “ความเสื่อมสลายของทักษะการเขียนภาษาจีนกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมจีน”
“แม้โรงเรียนหลายแห่งจะพยายามผลักดันการเรียนการสอนตัวอักษรจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่า มีโอกาสน้อยนิดที่จะเขียนภาษาจีนด้วยลายมือตนเองท่ามกลางโลกยุคดิจิตอลเช่นนี้”
“มันสะท้อนให้เห็นว่า เราอ่านหนังสือกันน้อยเกินไป ณ ที่นี้ต้องไม่นับรวมพวกภาษาตามหน้าเว็ปไซต่างๆ แต่เน้นถึงงานเขียนรูปแบบจริงจังในหนังสือเล่มต่างๆ” เขา กล่าวทิ้งท้าย