xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจชี้ ช่องว่างรายได้ของชาวจีนค่อย ๆ ลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผลสำรวจล่าสุดของจีนพบว่า แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของผู้คนบนแดนมังกรยังคงมีสูง เมื่อเปรียบเทียบกับชาติ ที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ช่องว่างนี้ก็กำลังหดแคบเข้าทีละน้อย

จากผลการสำรวจในรายงานการพัฒนาของจีนว่าด้วยการครองชีพของประชาชนประจำปี 2556 ( China Development Report on People’s Livelihood 2013) ระบุว่า สัมประสิทธิ์จีนี ( Gini coefficient) ของจีนอยู่ที่ 0.49 ในปี 2555 ลดลงเล็กน้อยจาก 0.51 ในปี 2553

ผลการสำรวจนี้ดำเนินภายใต้โครงการวิจัยของสถาบันสำรวจด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 14,960 ครัวเรือน รวมจำนวน 57,155 คน

สัมประสิทธิ์จีนีเป็นวิธีการหนึ่งในการวัดการกระจายรายได้ โดยตัวเลข 0 หมายถึงมีความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ และ 1 หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ การอ่านค่าได้เหนือระดับ 0.4 หมายถึงสัญญาณเตือนถึงความเหลื่อมล้ำ

นาย เริ่น เฉียง ผู้เขียนรายงานการสำรวจชิ้นนี้ระบุถึง 2 สาเหตุ ที่มีส่วนช่วยทำให้สัมประสิทธิ์จีนีของจีนกระเตื้องดีขึ้น ได้แก่รายได้ภาคครัวเรือนในชนบท ที่เพิ่มเร็วขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับในเมือง และรายได้ของชนชั้นกลาง ที่เพิ่มเร็วขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน

นอกจากนั้น แม้ดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำของจีนจะสูงกว่าชาติ ที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่นสหรัฐฯ หรือยุโรป แต่นายเริ่นก็ระบุว่า ยังนับว่าดีกว่าประเทศในแถบละตินอเมริกา และแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม การวัดการกระจายรายได้ในจีนด้วยสัมประสิทธิ์จีนีของสถาบันต่างๆ ผลที่ออกมามีความแตกต่างกัน ไป เช่น จากการประเมินของสำนักสถิติแห่งชาติของจีน ที่เผยแพร่มื่อเดือนม.ค. ระบุว่า อยู่ที่ 0.481 ในปี 2553 และอยู่ที่ 0.474 ในปี 2555 ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่าอยู่ที่ 0.421 ในปี 2552

ส่วนศูนย์สำรวจรายได้ครัวเรือนแห่งชาติจีน (The Survey and Research Centre for China Household Finance) ประเมินดัชนีจีนีของจีนในปี 2553 อยู่ที่ 0.61 ซึ่งเป็นตัวเลข ที่น่าตกใจทีเดียว

ทั้งนี้ แม้จากรายงานการพัฒนาของจีนว่าด้วยการครองชีพของประชาชนประจำปี 2556 ระบุว่า ช่องว่างรายได้ของประชากรจีนหดแคบเข้ามาบ้าง แต่ก็ยืนยันว่า โดยรวมแล้วยังเป็นความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก โดยพบว่า ในปีที่แล้วครัวเรือน ที่มีรายได้สูงสุดนั้น สูงกว่าครัวเรือน ที่มีรายได้ต่ำสุดถึง 234 เท่า

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังพบว่า ครัวเรือนร้อยละ 87.4 มีสินทรัพย์เป็นบ้านที่อยู่อาศัย และครัวเรือนเกือบร้อยละ 80 ครอบครองบ้าน หรือห้องพักอย่างน้อย 1 หลัง และกว่าร้อยละ 10 ครอบครองบ้าน หรือห้องพักมากกว่า 1 หลัง

นายเริ่นชี้ว่า สัดส่วนการครอบครองบ้านที่อยู่อาศัยส่วนตัวของจีนมีสูงกว่าหลายประเทศ แต่อาจไม่ใช่แนวโน้มที่ดี ซึ่งรัฐบาลจีนควรออกมาตรการ เพื่อไม่สนับสนุนให้ประชาชนใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นช่องทางสำคัญในการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น