xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตจีนขำไม่ออก จีนออกกฎหมายบังคับความกตัญญู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพ - เอเยนซี)
เอเยนซี - รัฐบาลจีนออกกฎหมายใหม่ บังคับให้ลูกหลานต้องกลับไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่หรือญาติสูงอายุของพวกเขา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป ก่อเกิดทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และเสียงหัวเราะเย้ยหยันทั่วสังคมจีนอยู่ในขณะนี้

โกลบอล ไทมส์ (Global Times) สื่อทางการจีน รายงานข่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ (1 ก.ค.) นี้เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดสำคัญอยู่ที่การ “บังคับ” ให้ลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว ต้องกลับไปเยี่ยมเยียน ดูแลพ่อแม่หรือญาติที่เข้าสู่วัยชราของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบัน จีนกำลังเผชิญปัญหาจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ที่มีเป้าหมายควบคุมจำนวนประชากรทั้งประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยจากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยว่า ขณะนี้ จีนมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 194 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด และจะแตะระดับ 200 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกหลานต้องระหกระเหินไปทำงานต่างถิ่น ละทิ้งพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้การดูแลอย่างเหมาะสม ดังเช่นกรณีของเกษตรกรรายหนึ่งในมณฑลเจียงซูทางภาคตะวันออกของจีน ต้องเจอกับคำด่าทอ ตำหนิติเตียนอย่างมหาศาล หลังถูกสื่อจีนแห่งหนึ่งเปิดเผยเรื่องราวการเลี้ยงดูแม่แท้ๆ ในเล้าหมู จนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ
คุณย่ากับหลานชายนั่งเล่นกันในสวนสาธารณะเป๋ยไห่ กรุงปักกิ่ง (ภาพ - เอเยนซี)
ชาวเน็ตจีนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายประหลาดฉบับนี้

หลังจากข่าวการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แพร่กระจายออกไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกไซเบอร์จีน ชาวเน็ตจีนจำนวนมากได้พูดถึงเรื่องนี้ในเวยปั๋ว (เว็ปไมโครบล็อคคล้ายทวิตเตอร์) กันอย่างกว้างขวาง

“เจตนาของกฎหมายนั้นดี แต่วิธีการนั้นแย่ มันไม่ใช่การใช้กฎหมายมาบีบให้ทำในสิ่งที่บังคับไม่ได้อย่างศีลธรรม”

“ไม่ใช่ว่าลูกๆ ไม่อยากกลับไปหาพ่อแม่ แต่เพราะพวกเขามีเวลาจำกัด และต้องทำหาเลี้ยงชีพอยู่ต่างเมืองต่างถิ่นต่างหาก”

“นี้มันเป็นการดูถูกคนในชาติตัวเองชัดๆ”

ทั้งนี้ ซั่งไห่ เดลี่ สื่อจีนอีกแห่ง ระบุว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ ยังให้สิทธิ์อำนาจกับพ่อแม่ในการฟ้องร้องต่อศาล หากลูกๆ ของเขาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกด้วย

ทว่า ศาสตราจารย์ซย่า เสวียหลวน อาจารย์ประจำสถาบันสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของโกลบอล ไทมส์ ว่า “หากรัฐต้องการให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดสัมฤทธิ์ผล ก็ควรกำหนดมาตรฐานที่แน่นอนกว่านี้”

“วิธีการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ดูเหมือนเป็นเครื่องเตือนความจำให้คนวัยหนุ่มสาว หันกลับมาสนใจระเบียบประเพณีความกตัญญูกตเวทีที่ดีงามของสังคมจีน มากกว่าการเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติตาม” อาจารย์ซย่า กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น