xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยล่าสุดชี้ผลกระทบของนโยบายลูกคนเดียว

เผยแพร่:   โดย: พรรณพิไล นาคธน


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เด็กบนแดนมังกร ซึ่งถือกำเนิดภายใต้นโยบายลูกคนเดียว ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2522 ผู้คนพากันเรียกว่า “ จักรพรรดิน้อย” เพราะพวกเขาคือจุดศูนย์กลาง ที่พ่อแม่ทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ให้

ทว่าการเลี้ยงดูเช่นนี้จะส่งผลอย่างใดแก่ตัวเด็กบ้าง และการเลี้ยงดูรุ่นแล้วรุ่นเล่าจะส่งผลอย่างไรต่อสภาพสังคมจีน

ผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวของจีนเคยมีการพูดกันมาก่อนหน้านี้แล้ว และล่าสุดได้มีผลการวิจัยของลิซ่า คาเมรอน แห่งมหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียและคณะ ซึ่งลงเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตในวารสารไซเอ็นซ์ (Science) เมื่อวันที่  11 ม.ค.ที่ผ่านมา

ผลการวิจัยเสนอหลักฐานใหม่ว่า บรรดาจักรพรรดิน้อยเหล่านี้มีความไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นน้อยกว่าผู้ที่เกิดก่อนนโยบายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ เช่นเดียวกับความกระตือรือร้นในการแข่งขัน และความรู้สึกผิดชอบในใจ ขณะเดียวกันกลับเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่าอีกด้วย

ผลการศึกษายังระบุว่า นโยบายลูกคนเดียวได้ขยายเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาอย่างมีนัยสำคัญในสังคมจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ทั้งในแง่ความกล้าเสี่ยงในการลงทุน ที่น้อยกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดผู้ประกอบการน้อยลง

“ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง ไม่เฉพาะในแง่การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม แต่ในแง่การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานในธุรกิจ การเจรจาต่อรองระหว่างบริษัท” คาเมรอนระบุ

“ถ้าเรามีความไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นในระดับ ที่ต่ำกว่า ก็อาจทำให้การเจรจาและการมีปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ยากขึ้นก็ได้” เธอระบุในรายงานผลการวิจัย

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาหญิงและชายในกรุงปักกิ่งจำนวน 421 คน ซึ่งเกิดก่อนและหลังการบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวได้ไม่นาน โดยผู้ถูกสำรวจราวร้อยละ 27 เกิดในปี 2518 ร้อยละ 82 เป็นผู้เกิดในปี 2523 และร้อยละ 91 เกิดในปี 2526 ผู้ถูกสำรวจเหล่านี้มีทั้งผู้ที่ได้รับการศึกษาดีกว่า หรือเหมือน ๆ กับประชากรทั่วไปในกรุงปักกิ่ง โดยมีการทดสอบเพื่อวัดลักษณะความไม่เห็นแก่ตัว ความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ทัศนคติต่อความเสี่ยง และการแข่งขัน ตลอดจนการสำรวจบุคลิกลักษณะ

โจว หง แห่งโรงเรียนจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งนอร์มอล ซึ่งมิได้ร่วมวิจัยไม่รู้สึกแปลกใจต่อผล ที่ปรากฏ ซึ่งรวมทั้งการพบว่า เด็กเหล่านี้มีความรู้สึกไวและขี้วิตกกังวล เพราะเมื่อเด็กซึ่งเคยได้รับการปกป้องทะนุถอนมากจนเกินไปเหล่านี้เข้าสังคม พวกเขาจะรู้สึกสูญเสียและไม่ดิ้นรนที่จะแข่งขันกับใคร

นอกจากนั้น พ่อแม่ที่มีลูกคนเดียวมักมีความวิตกกังวลสูง เมื่อลูกเจ็บป่วย ความรู้สึกนี้จะถ่ายทอดไปถึงลูก ทำให้เด็กเป็นคนรู้สึกไว และขี้วิตกกังวล

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนเชื่อว่า นโยบายลูกคนเดียวจะควบคุมการกำเนิดประชากรหลายร้อยล้านคน และช่วยแก้ไขปัญหาความจน แต่มาตรการนี้ก็มีผลเสียหลายประการ เช่นการบังคับให้ทำแท้ง การทำหมัน หรือการทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชน คู่สามีภรรยาที่ละเมิดนโยบายนี้จะถูกปรับเงินอย่างหนัก ถูกยึดทรัพย์สิน และตกงาน

เมื่อปีที่แล้ว(2555) หน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้เริ่มผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียว โดยอนุญาตให้ครอบครัวหนึ่งมีลูกได้ 2 คนภายในปี 2558 โดยชี้ว่า นโยบายลูกคนเดียวทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สูญเสียงบประมาณในการบริหารจัดการสูง และทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างประชากรเพศชายและเพศหญิงในระยะยาว เนื่องจากการลักลอบทำแท้ง หรือการฆ่าทารก หากรู้ว่าเป็นเพศหญิง

ผลการวิจัยยังระบุด้วยว่า เด็กที่เกิดภายหลังจากปี 2522 จะเติบโตมาในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้ที่เกิดมาในครอบครัว ซึ่งมีลูกคนเดียว ดังนั้น ผลกระทบด้านจิตวิทยาจากนโยบายนี้ย่อมขยายใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม โทนิ ฟาลโบ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเท็กซัสในเมืองออสติน รู้สึกสนเท่ห์ ที่ผลการวิจัยค้นพบแต่สิ่งที่แย่ ๆ และหวังว่าจะมีผู้ทำวิจัยชิ้นอื่น ๆ ตามมา ซึ่งอาจจะได้ภาพที่คละกันมากกว่านี้

ฟาลโบยังกล่าวด้วยว่า ผลการวิจัยนี้จะแตกต่างจากผลการวิจัยลูกคนเดียวในสหรัฐฯ เพราะลูกคนเดียวในจีนเติบโตมาด้วยความคาดหวังที่ต่างกัน โดยทางการจีนเน้นให้เด็กเหล่านี้ถ้าเป็นไปได้จะต้องดีที่สุด ขณะที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่อยากให้ลูกของตนมีความสุข และมิได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นเด็กชั้นนำระดับโลกในด้านใดด้านหนึ่ง

ผลการวิจัยอย่างรอบคอบ ซึ่งทำในประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะบางอย่างในเด็กที่เกิดเป็นลูกคนเดียวยังพบว่า เด็กเหล่านี้ “โดยเฉลี่ยแล้วก็เหมือนกับเด็กอื่น ๆ อยู่มากพอสมควร” เธอกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น