xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจีนสั่งขังอุยกูร์ 19 คน โทษคลั่งศาสนาสุดขั้ว แยกดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง ภาพถ่ายซินหวา ก.พ.2556
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ศาลในเขตซินเจียงอันไกลโพ้นของจีนได้สั่งตัดสินจำคุกชาวอุยกูร์จำนวน 19 คน โดยมีโทษต่างกันไป นานสูงสุด 6 ปี ข้อหาสนับสนุนให้เกิดการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์ และคลั่งศาสนาแบบสุดโต่ง นับเป็นมาตรการปราบปรามล่าสุดที่รัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็นความรุนแรงระดับการแบ่งแยกดินแดน

สำนักข่าวลีกัลเดลีของรัฐบาลจีนเผยทางเว็บไซต์ว่า ผู้ถูกตัดสินทั้งหมดเป็นชาวอุยกูร์ มีหนึ่งคนมาจากเขตที่มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นทางตอนใต้ของซินเจียง ขณะที่อีก 8 คนมาจากเส้นทางสายไหมเก่า เมืองคาสือ

ชาวอุยกูร์จำนวนมากเป็นชาวมุสลิม พูดภาษาเตอร์กิก อาศัยอยู่ในดินแดนรุ่มรวยพลังงานในซินเจียง พวกเขาไม่พอใจที่รัฐบาลกลางจีนได้กำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเผยว่า รัฐบาลได้ให้เสรีภาพกับพวกเขาอย่างกว้างขวางแล้ว

ในจำนวนคดีเหล่านี้ มีคดีหนึ่งระบุว่า ผู้ต้องหาได้เข้าไปดาวโหลดเอกสารในเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ซึ่งมีเนื้อหาคลั่งศาสนาอย่างสุดโต่ง และมีการปลุกระดมเรื่องสงครามศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นยังได้มีการฟื้นกระแสความเป็นศัตรูทางชาติพันธุ์ ลีกัลเดลีรายงานเมื่อวันพุธ (19 มิ.ย.)

รายงานในเว็บไซต์แสดงข้อความคำตัดสินของศาลว่า "การสร้างเว็บไซต์ดาวโหลดข้อมูลเหล่านี้เป็นความพยายามที่ชั่วร้ายในสังคม"

ผู้ต้องสงสัยอีกคนถูกตัดสินจำคุกในข้อหาแพร่ข้อมูลจากต่างประเทศ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่สนับสนุนลัทธิก่อการร้ายและความสุดโต่งทางศาสนา

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวไม่ได้เจาะจงชาติพันธุ์ ชื่อของผู้ต้องหา แม้กระทั่งที่ตั้งของศาลที่ทำการตัดสิน

จีนได้ประณามกลุ่มติดอาวุธอุยกูร์ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับกองทหารอิสลามปากีสถานและเอเชียกลาง ซึ่งเชื่อว่ามีปฏิบัติการเพื่อโจมตีเรียกร้องการก่อตั้งรัฐอิสระ

กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเผยว่า จีนได้แสดงท่าทีที่เกินไปในการควบคุมชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี ภูมิภาคดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ชายแดนของจีนติดกับเอเชียกลาง อินเดียและปากีสถาน มักจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางชาติพันธุ์ มีการปะทะอยู่เสมอ

เมื่อเดือนเม.ย. ประชาชนถูกสังหารเสียชีวิตไป 21 คนในเมืองคาสือ นับเป็นความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดนับจากเดือนก.ค. ปี 2552 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 200 คน ในเหตุจลาจลที่อุรุมชี

สื่อรัฐบาลไม่ได้กล่าวว่า มีกองทหารเข้าไปจัดการความเรียบร้อยในเหตุการณ์ ทว่าผู้นำลี้ภัยของอุยกูร์นาม เรบิยา คาเดียร์ ได้เผยในโตเกียว (20 มิ.ย.) ว่า ปักกิ่งได้สั่งการให้กองทหารเข้าไปจัดการสถานการณ์ พร้อมกับกล่าวว่า ได้มีปฏิบัติการสังหารเกิดขึ้น

"ตำรวจและกองทัพมีส่วนร่วมกันในการสังหารประชาชนในพื้นที่" คาเดียร์กล่าว พร้อมกับชี้ว่าทหารได้ใช้วัตถุระเบิดด้วย

คาเดียร์ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุยกูร์โลก (World Uygur Congress) ได้พักอยู่ในญี่ปุ่นเพื่อทำการบรรยายเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ อย่างไรก็ดี เธอไม่ได้แจงหลักฐานใด ๆ ให้แก่นักข่าวเพื่อสนับสนุนคำกล่าวของเธอ
กำลังโหลดความคิดเห็น