xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวจีนอีกครั้ง...ที่เมืองหยาอาน โศกนาฏกรรมไม่รู้จบของมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ภาพถ่ายทางอากาศซากปรักหักพังจากแผ่นดินไหวหยาซาน อำเภอหลูซาน มณฑลเสฉวน วันที่ 20 เม.ย.2556 (ภาพ รอยเตอร์)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ในเช้าวันเสาร์ที่ 20 เม.ย. ชาวจีนในมณฑลซื่อชวน หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ เสฉวนประสบภัยพิบัติใหญ่หลวงจากแผ่นดินไหว โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไป 12 กิโลเมตร ใกล้เมืองหยาอาน(雅安 )อำเภอลหลูซาน(芦山) หน่วยติดตามแผ่นดินไหวจีนระบุระดับความแรง เท่ากับ 7.0 ริกเตอร์ ขณะที่หน่วยสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (US Geological Survey) ระบุความแรง 6.6 ริกเตอร์ นอกจากนี้ยังมีอาฟเตอร์ช็อกซัดตามมา อีกราว 3,509 ครั้ง โดยอาฟเตอร์ช็อกที่แรงที่สุด กว่า 5.2 ริกเตอร์ 4 ครั้ง

เชื่อกันว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวครั้งนี้มาจากรอยเลื่อนหลงเหมินซาน (Longmenshan fault Line) แห่งเดียวกับที่ก่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเสฉวนเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2551 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เวิ่งชวน แรงถึง 7.9 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 90,000 คน

เมืองหยาอาน มีประชากร 1.5 ล้านคน อยู่ห่างจากเฉิงตูเมืองเอกของเสฉวน ราว 150 กิโลเมตร จากรายงานคืบหน้าล่าสุด ระบุจำนวนประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุธรณีไหว 207 คน สูญหาย 25 คน และบาดเจ็บ 12,200 คน

พระเจ้าช่างร้ายเหลือ
ท่ามกลางกองซากปรักหักพังหลังจากแผ่นดินไหว แทบทุกตารางนิ้ว เต็มไปด้วยน้ำตาของญาติมิตรที่สูญเสียผู้เป็นที่รักไปอย่างกระทันหัน ราว 17,000 ครอบครัวต้องสูญเสียบ้านเรือน

นาง ลู่ จิ้งคัง วัย 50 ปี ต้องประสบโศกนาฏกรรมถึงสองครั้ง บุตรสาววัย 17 ปี ของเธอเสียชีวิตระหว่างที่บ้านทั้งหลังพังลงมาชนิดราบเป็นหน้ากลองขณะเกิดแผ่นดินไหวในวันเสาร์(20 เม.ย.) ผู้คนที่ทราบข่าวต่างอึ้งน้ำตาคลอเป้า ธรณีพิโรธดั่งกระชากดวงใจดวงที่สองของคุณแม่ลู่ไป เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คุณแม่ลู่ก็ได้สูญเสียลูกชายคนโตไปในเหตุแผ่นดินไหวครั้งมหากาฬเมื่อวันที่ 12 พ.ค. “พระเจ้าโหดร้ายกับฉันมากเกินไปแล้ว” คุณแม่ลู่ สะอื้นไห้

สำหรับแผ่นดินไหวใหญ่ในในช่วง 5 ปีมานี้ ได้แก่ เมื่อปี 2551 เสฉวนซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ประสบเหตุธรณีพิโรธ แรงถึง 8.0 ริกเตอร์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองเวิ่งชวน ตัวเลขทางการจีนระบุผู้เสียชีวิตและสูญหาย กว่า 9 หมื่นคน

เขตตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต้องผจญเหตุแผ่นดินไหวบ่อยๆ ในเดือน เม.ย. 2553 ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ 6.9 ริกเตอร์ ในอี้ว์ซู่ซึ่งเป็นแคว้นปกครองตัวเองของชนชาติทิเบต มณฑลชิงไห่อยู่ติดกับเสฉวน มีผู้เสียชีวิต ราว 2,700 คน บาดเจ็บ ราว 12,000 คน
แผนที่แสดงแนวเขตแผ่นดินไหวในประเทศจีน
จีนผจญแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากที่สุดในโลก
จีนเป็นเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสูสีกับญี่ปุ่น นาย หาน จู๋จวิน (韩竹君) เจ้าหน้าที่การวิจัยประจำสำนักงานติดตามแผ่นดินไหวแห่งจีน กล่าวว่า ประเทศจีนเป็นเขตที่ประสบแผ่นดินไหวอย่างเลวร้ายที่สุดในโลก

นับจากศตวรรษที่ 20 มา มีแผ่นดินไหวระดับ 6.0 ริกเตอร์ ขึ้นไป ร่วม 800 ครั้ง แทบทุกเขตมณฑลในประเทศจีน ล้วนประสบแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาตินี้ รวมถึงราว 550,000 คน คิดเป็น 53 เปอร์เซนต์ ของผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวทั่วโลกในช่วงเดียวกัน

ชาวจีนมักคุยว่า “แผ่นดินจีนกว้างใหญ่ มีสัดส่วน 7 เปอร์เซนต์ของส่วนที่เป็นแผ่นดินของโลก ทว่ามีน้อยคนที่รู้ว่า พื้นดิน 7 เปอร์เซนต์ของโลกแห่งนี้ มีเขตแผ่นดินไหวบนแผ่นดินระดับแรงถึง 33 เปอร์เซนต์ นับเป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหวบนพื้นดินระดับแรงมากที่สุดในโลก ความสำนึกต่อแผ่นดินไหวของชาวจีนนั้นมีเพียงเบาบาง นี่คือความแตกต่างมากที่สุดระหว่างจีนและชาวญี่ปุ่นต่อสถานการณ์แผ่นดินไหว

ฝั่งตะวันตกมีแผ่นดินไหวถี่ๆ ฝั่งตะวันออกแผ่นดินไหวส่งผลรุนแรง
“ใครๆต่างพูดกันว่าจีนประสบแผ่นดินไหวบ่อยๆ แต่ทำไมชาวจีนไม่ค่อยสำนึกในเรื่องนี้กันมากนัก?” หาน จู๋จวิน ตั้งคำถามกับนักวิทยาศาสตร์ธรณีวิทยา นาย เติ้งไหน่กง (邓乃恭)

เติ้งไม่ตอบแต่กลับย้อนถามว่า “ก่อนหน้าแผ่นดินไหวใหญ่ที่เวิ่งชวน*(1) จีนมีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงในช่วงยุคใกล้นี้ กี่ครั้ง?”

นาย หานคิดทบทวนไปมาแล้ว ตอบว่า “แผ่นดินไหวที่เมืองถังซัน*(2) ปี 2519 ความแรง 7.9 ริกเตอร์”
“มิใช่ ที่จริงในปี 2544 เกิดแผ่นดินไหวขนาดถึง 8.1 ริกเตอร์ ที่เทือกเขาคุนหลุนทิศตะวันออก เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดในเขตที่ไร้ผู้คนบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีใครรู้ แผ่นดินไหวในภาคตะวันตกจีนเป็นเช่นนี้”

เขตภาคเหนือนับเป็นเขตแผ่นดินไหวที่สำคัญเขตหนึ่งของจีน และส่งผลกระทบถึงกรุงปักกิ่ง เทียนจิน เหลียวหนิง เหอเป่ย เหอหนัน ซานซี ส่านซี ซานตง เจียงซู และอันฮุย เป็นต้น เขตเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของประเทศจีน เมื่อแผ่นดินไหวจู่โจมหัวใจ ร่างกายทั้งหมดก็ย้ำแย่ไปด้วย

สำนักติดตามแผ่นดินไหวจีนประกาศแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว 23 แห่งในเขต 5 แห่ง ดังต่อไปนี้
1) มณฑลไต้หวัน*(3) และน่านน้ำทะเลในบริเวณ

2) เขตตะวันตกเฉียงใต้ แห่งหลักๆได้แก่ ทิเบต ด้านตะวันตกของมณฑลเสฉวน และด้านตะวันตกของมณฑลอวิ๋นหนัน

3) เขตตะวันตกเฉียงเหนือ แห่งหลักๆได้แก่ ระเบียงเหอซีในมณฑลกันซู่ ชิงไห่ หนิงซย่า แนวเชิ
งเขาใต้เหนือของเขาเทียนซาน

4) เขตเหนือ แห่งหลักๆได้แก่ เขาไท่สิงซาน หุบเขาลำน้ำเฝินเว่ยเหอกู่ อินซาน-เยียนซาน ตอนกลางของซานตง และอ่าวปั๋วไห่

5) ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกว่างตง ฝูเจี้ยน และเขตอื่นๆ

หมายเหตุ *(1)แผ่นดินไหวที่เสฉวนเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2551 ระดับความแรง 8.0 ริกเตอร์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองเวิ่งชวน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 9 หมื่น ราย
*(2) แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ที่เมืองถังซัน นครเทียนจิน เมื่อปี 2519 มีผู้เสียชีวิต 242,769 คน บาดเจ็บสาหัส 164,851 คน
*(3) จีนนับไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน
ญาติมิตรกำลังแบกศพผู้เสียชีวิตออกมาทำพิธีศพเมื่อวันที่ 22 เม.ย.(ภาพ เอเอฟพี)
ผู้รอดชีวิตที่สูญเสียบ้านในหลูซาน (รอยเตอร์)
พ่ออุ้มลูกสาวหนีอาฟเตอร์ช็อก (ภาพ เอเอฟพี)
ผู้ประสบภัยฯยื่นมือรับอาหารและสิ่งของประทังชีวิต (ภาพ เอเอฟพี)
หญิงสาวน้ำตาไหลขณะยืนรอเจ้าหน้าที่เคลียร์ซากดินถล่ม ซึ่งเธอเชื่อว่าสามีของตนถูกฝังอยู่ในนั้น (ภาพ รอยเตอร์)
แม่เดินอย่างอ่อนแรงขณะที่ลูกน้อยหลับคาหลัง (ภาพ รอยเตอร์)
ผู้ประสบภัยในที่พักพิงชั่วคราว (ภาพ เอเอฟพี)
นวันที่ 20 เม.ย. แพนด้ายักษ์ที่ศูนย์การวิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ปี้เฟิงซยาเมืองหยาอาน ตกใจแผ่นดินไหว ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ และไม่ยอมลงมา ที่นี่มีแพนด้ายักษ์ 62 ตัว ทุกตัวปลอดภัยดี (ภาพ เอเอฟพี)
เจ้าหน้าที่กำลังเดินเท้าเข้าไปช่วยเหลือในเขตประสบภัยที่ถูกตัดขาด (ภาพ เอเอฟพี)
อาสาสมัครจากที่ต่างก็หลั่งไหลไปช่วยเหลือ (ภาพ เอเอฟพี)
ผู้รอดชีวิตนั่งสูบบุหรี่ ข้างพระพุทธรูปที่เสียหายจากแผ่นดินไหว (ภาพ รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น