xs
xsm
sm
md
lg

“ปรับฐานรายได้ขั้นต่ำ” ของขวัญปีใหม่แด่แรงงานแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

เขตที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น เซินเจิ้น เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง มีฐานอัตรารายได้ขั้นต่ำสูงกว่าเขตที่รอการพัฒนาทางด้านตะวันตก หากรัฐบาลไม่เร่งกระจายการพัฒนา จะส่งผลให้แรงงานกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่เขตเมือง (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
เอเยนซี- พญามังกรบรรลุสัญญาเพิ่มรายได้ พร้อมมอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน ด้วยการปรับฐานรายได้ขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยค่าแรงขั้นต่ำในมณฑลและเขตต่างๆส่วนใหญ่ ปรับเพิ่มในอัตรามากกว่า 10 เปอร์เซนต์ บางเมืองเพิ่มถึง 20 เปอร์เซนต์ เซินเจิ้น เจ้อเจียง และมหานครเซี่ยงไฮ้ ครองแชมป์ค่าแรงแพงสุด

สื่อจีนรายงาน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานประกันรายได้ประชากรให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในอีก 7 ปีข้างหน้า กระทรวงแรงงานและประกันสังคม สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศปรับฐานอัตรารายได้ขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศแล้วในวันที่ 1 ม.ค. 56

รายงานฯระบุแนวคิดและเหตุผลในการปรับเพิ่มรายได้ฯนี้ เนื่องจากอัตรารายได้ขั้นต่ำคือหลักประกันความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งหากรายได้ของมนุษย์เงินเดือนหรือค่าจ้างของแรงงานไม่พอแก่การเลี้ยงชีพเมื่อใด สังคมก็จะได้รับแรงสั่นสะเทือน และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังเป็นการคลี่คลายปัญหาสัดส่วนกลุ่มประชากรในประเทศ ที่มีแนวโน้มกลุ่มวัยทำงานกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาระเลี้ยงดูคนชราสูงขึ้น

นับแต่ปี 2004 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานจึงออกกำหนดว่าด้วยอัตรารายได้ขั้นต่ำขึ้น ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ทุก 2 ปี จะต้องมีการปรับอัตรารายได้ขั้นต่ำอย่างน้อย 1 ครั้ง และในวันที่ 11 เดือนมิ.ย. 2012 คณะมุขมนตรียังได้แถลงการณ์ผ่านแผนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษชน (ปี 2012-2015) ว่า ต้องการสร้างมาตรฐานรายได้ของประชากรให้เป็นระบบมากขึ้น โดยจะกำหนดให้มีการปรับเพิ่มฐานรายได้ขั้นต่ำอย่างน้อย เฉลี่ย 13% ต่อปี และเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ยังได้ประกาศคำมั่นกลางการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 18 ว่าจะทำให้ความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ด้วยการประกันรายได้ทั้งในชนบทและตัวเมืองให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2020

เซินเจิ้น เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ครองแชมป์ค่าแรงแพงสุด

สำหรับปี 2013 นี้ กระทรวงแรงงานและประกันสังคม ได้ประกาศปรับฐานอัตรารายได้ขั้นต่ำพร้อมกันถึง 23 เขตปกครองแล้วนับแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา อันได้แก่ 14 มณฑล คือ เจ้อเจียง เจียงซู เหอเป่ย ซานตง ฝูเจี้ยน หูหนาน เหยหลงเจียง ส่านซี ซานซี อวิ๋นหนาน ชิงไห่ ซื่อชวน(เสฉวน) ไห่หนาน กานซู่ เจียงซี รวงมทั้งมหานครทั้งสี่ คือ ซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) เป่ยจิง (ปักกิ่ง) ฉงชิ่ง เทียนจิน 4 ไปถึงเขตปกครองตนเอง คือ มองโกเลียใน ก่วงซี หนิงซย่า ซินเจียง และเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น

จากตารางแสดงการปรับฐานรายได้ขั้นต่ำรายเดือนจะเห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษของมณฑลก่วงตง เช่นเซินเจิ้น ยังคงรักษาแชมป์เมืองที่มีฐานรายได้ขั้นต่ำสูงที่สุด คือ 1,500 หยวน (7,500 บาท) ต่อเดือน ในขณะที่มณฑลเจ้อเจียงปรับขึ้นจากปีที่แล้ว 160 หยวน (800 บาท) ต่อเดือน ทำให้ขยับมาเป็นอันดับ 2 แซงหน้ามหานครซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) ไปได้อย่างเฉียดฉิวเพียง 20 หยวน (100 บาท) ต่อเดือน

สำหรับอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นตกลงไปอยู่อันดับ 3 ด้วยต่ำกว่าแชมป์อย่างมหานครปักกิ่ง 1.9 หยวน (9.5 บาท) ต่อชั่วโมง ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจากข้อมูลทางสถิติจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการปรับที่มากกว่า 10เปอร์เซนต์ขึ้นไป ในขณะที่บางเมืองปรับขึ้นถึง 20เปอร์เซนต์
ข้อมูลทางสถิติปี 2013 จากเว็บไซต์ซินหลางซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้), ข้อมูลทางสถิติปี 2012 จากเว็บไซต์จงกั๋วซินเหวิน
...แต่ไม่ช่วยลดช่องว่างเมือง-ชนบท แรงแข่งขันราคาสินค้าหมดไป

สิ่งที่สะท้อนปัญหาประการแรก คือ เขตที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น เซินเจิ้น เจ้อเจียง ซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) เป่ยจิง (ปักกิ่ง) มีฐานอัตรารายได้ขั้นต่ำสูงกว่าเขตที่รอการพัฒนาทางด้านตะวันตก เช่น กานซู่ เจียงซี ถึง 500-630 หยวน (2,500-3,150 บาท) ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งกระจายการพัฒนา จะส่งผลให้แรงงานกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่เขตเมือง (จากสถิติปี 2011 ประชากรในเขตเมืองมีมากกว่าพื้นที่เขตชนบทถึง 6.9 ล้านคน) ในขณะที่ชนบทไม่เพียงขาดแคลนแรงงานฝีมือ แต่ช่องว่างรายได้จะยิ่งถีบตัวสูงขึ้น พร้อมกับสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและการสิ้นสุดลงของภาวะแรงงานเข้มข้น (人口红利หรือ Demographic dividend )

ประการที่สอง ประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ก็คือ แรงงานต่างถิ่นที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมือง แม้จะมีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ยังประสบกับความลำบากในการเลี้ยงชีพ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นพลเมืองของเมืองนั้นๆ จึงไม่มีสิทธิผลประโยชน์ด้านประกันสังคมในหลายบริบท ตลอดจนความกดดันในเรื่องสิทธิการเช่าซื้อที่พักอาศัย ซึ่งภาวะไม่มั่นคงดังกล่าว ไม่สามารถแก้ไขอย่างผิวเผินด้วยการประกันรายได้ของประชากร จึงหวังให้รัฐบาลเร่งทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ประการที่สาม การที่ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น อาจทำให้จีนสูญสียความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาสินค้า จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น