ในสังคมจีนเชื่อเรื่องความสมดุลของหลักปรัชญายิน-หยาง ซึ่งอธิบายการก่อเกิดของจักรวาล พลังยิน (มืด) หยาง (สว่าง) เกื้อกูลและควบคุมทุกสรรพสิ่งในจักรวาลก่อเกิดเป็นดุลยภาพ ส่วนการอธิบายโครงสร้างของจักรวาลนั้น สังคมจีนมีความเชื่อเรื่องพลังแห่งธาตุทั้งห้า อันประกอบด้วย ไม้ ไฟ ดิน โลหะ และน้ำ สิ่งที่น่าสนใจคือ ธาตุทั้งห้าได้ให้กำเนิดซึ่งกันและกัน และขณะเดียวกันก็ทำลายกันเอง เกิดเป็นทฤษฎีธาตุกำเนิดและธาตุปรปักษ์
ธาตุไม้ให้กำเนิดธาตุไฟ (ไม้เป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟ) ธาตุไฟให้กำเนิดธาตุดิน (ไฟเผาไหม้ต้นไม้ต่าง ๆ จนเป็นเถ้าถ่านแล้วกลายเป็นดิน) ธาตุดินให้กำเนิดธาตุโลหะ (ในดินมีแร่ธาตุหลายชนิด) ธาตุโลหะให้กำเนิดธาตุน้ำ (แร่ธาตุในดินทำให้เกิดแหล่งน้ำขึ้น) ธาตุน้ำให้กำเนิดธาตุไม้ (น้ำหล่อเลี้ยงไม้ให้เจริญเติบโต)
ธาตุไม้เป็นปรปักษ์ธาตุดิน (ต้นไม้ดูดแร่ธาตุจากดินทำให้ดินเสีย) ธาตุดินเป็นปรปักษ์ธาตุน้ำ (ดินทับถมแหล่งน้ำ) ธาตุน้ำเป็นปรปักษ์ธาตุไฟ (น้ำดับไฟ) ธาตุไฟเป็นปรปักษ์ธาตุโลหะ (ไฟหลอมเผาโลหะ) ธาตุโลหะเป็นปรปักษ์ธาตุไม้ (โลหะมากเกินไปทำให้ต้นไม้เกิดไม่ได้เพราะขาดดิน)
จากจักรวาล สู่กายมนุษย์
ธาตุทั้งห้าสร้างและควบคุมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดสมดุลกลมกลืน เมื่อธาตุทั้งห้าเป็นพลังจักรวาล ในร่างกายของมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลจึงมีธาตุทั้งห้าเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย จำแนกเป็นอวัยวะที่มีสภาพเป็นหยาง ประกอบด้วย ตับ หัวใจ ม้าม ปอด ไต ส่วนอวัยวะที่มีสภาพเป็นยิน ได้แก่ ถุงน้ำดี ลำไส้เล็ก กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ โดยอวัยวะเหล่านี้เกื้อหนุนและทำลายกันอย่างเป็นระบบ
ในคัมภีร์ซูจิง หรือคัมภีร์รัฐศาสตร์ ซึ่งรวมเอกสารสำคัญทางการเมืองเล่มแรกของจีน เป็นหนึ่งในหกคัมภีร์ของสำนักขงจื่อ เป็นตำราสรรพวิทย์ชั้นสูงตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (1027-256 ปีก่อนค.ศ.) กล่าวไว้ว่า ธาตุไม้มีลักษณะเกิดใหม่ได้ อ่อนนุ่ม จึงเป็นธาตุของตับและถุงน้ำดี ธาตุไฟมีลักษณะร้อน จึงเป็นธาตุของหัวใจและลำไส้เล็ก ธาตุดินมีลักษณะให้กำเนิดสรรพสิ่ง จึงเป็นธาตุของม้ามและกระเพาะอาหาร ธาตุโลหะมีลักษะแข็ง มีความสามารถดูดซับจึงเป็นธาตุของปอดและลำไส้ใหญ่ ธาตุน้ำมีลักษณะชื้น ไหลลงสู่ที่ต่ำ จึงเป็นธาตุของไตและกระเพาะปัสสาวะ
อธิบายได้ว่า ธาตุไม้ให้กำเนิดธาตุไฟ (ตับเป็นที่สะสมเลือดส่งไปหล่อเลี้ยงหัวใจ) ธาตุไฟให้กำเนิดธาตุดิน (หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงม้าม) ธาตุดินให้กำเนิดธาตุโลหะ (ม้ามสร้างเลือดและลมปราณไปหล่อเลี้ยงปอด) ธาตุโลหะให้กำเนิดธาตุน้ำ (ปอดมีลมปราณกระจายไปช่วยการทำงานของไต) ธาตุน้ำให้กำเนิดธาตุไม้ (ไตมีสารจำเป็นสะสมอยู่สามารถเปลี่ยนเป็นเลือดส่งไปหล่อเลี้ยงตับ)
ธาตุไม้เป็นปรปักษ์ธาตุดิน (ลมปราณจากตับกระจายลมปราณม้ามที่ติดขัดได้) ธาตุดินเป็นปรปักษ์ธาตุน้ำ (ม้ามดูดซึมอาหารและน้ำ ควบคุมน้ำของไตไม่ให้สะสมมากเกินไป) ธาตุน้ำเป็นปรปักษ์ธาตุไฟ (น้ำจากไตควบคุมหัวใจไม่ให้ร้อนแรงเกิน) ธาตุไฟเป็นปรปักษ์ธาตุโลหะ (ไฟหยางของหัวใจควบคุมไม่ให้ลมปราณจากปอดกระจายลงมากเกิน) ธาตุโลหะเป็นปรปักษ์ธาตุไม้ (ลมปราณจากปอดกระจายลงป้องกันหยางของตับไม่ให้เพิ่มมากเกิน)
การสร้างและควบคุมดำเนินควบคู่กันในลักษณะสมดุล เพื่อทำให้ร่างกายของมนุษย์เกิดขึ้น เจริญเติบโต ดำรงอยู่และดับไปตามวงจรธรรมชาติ จะเห็นว่าธาตุทั้งห้าเทียบเคียงสู่การทำงานของระบบอวัยวะในร่างกายมนุษย์ได้อย่างเหมาะเจาะ กลายเป็นตำราทางการแพทย์ในการเสริมบำรุงและรักษาสุขภาพของชาวจีนมาแต่ครั้งบรรพกาล
(ตัดตอนและเรียบเรียงจากบทความวิจัยเรื่อง “ทฤษฏีห้าธาตุ :สัญศาสตร์ในวัฒนธรรมอาหารจีน ” ของ รศ.ดร. พัชนี ตั้งยืนยง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 6 “ ดิน น้ำ ลม ไฟ : อุปสงค์ อุปทาน อุปลักษณ์ อุปโลกน์” ชุดโครงการวิจัยเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย )