เอเอฟฟี,รอยเตอร์, นิวยอร์กไทมส์ - การดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่ของคิม จองอึนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้เฉลยคำตอบให้กับพญามังกร ซึ่งมองเขาเป็นเสมือนโจทย์ยากในตอนแรก ได้ประจักษ์แล้วว่า เขาไม่ใช่เด็กในคาถาของใคร !
ผู้นำหนุ่ม ซึ่งอายุน่าจะอยู่ในราว 29 ปี และไม่เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการวางตัวทายาททางการเมืองของบิดาคือคิม จองอิล ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ปี 2554 และหลังจากนั้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างจีนกับเกาหลีเหนืออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
มันเป็นช่วงเวลา ที่ไม่ราบรื่นเอาเสียเลยสำหรับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ซึ่งเกาหลีเหนือ ที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอก ให้ความสนิทสนมมากที่สุดยิ่งกว่าชาติใด ๆ เพราะไม่สามารถอ่านใจคิมผู้ลูก ซี่งมองกันว่า อายุน้อย ด้อยประสบการณ์ได้ออก
เหตุกระทบกระทั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อโสมแดงจับกุมเรือประมง และลูกเรือ 28 คนของจีน ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดน่านน้ำเข้ามาจับปลา ลูกเรือเหล่านี้ถูกควบคุมตัวอยู่นาน 13 วัน แต่ในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว
การจับเรือประมงครั้งนี้กระทำโดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบให้กระจ่าง นักวิเคราะห์ของจีนมองว่า มันเหมือนกับพญามังกรถูกเด็กเมื่อวานซืนตบหน้า
ขณะที่ชาวจีนประณามเกาหลีเหนืออย่างโกรธแค้นในเว็บไซต์เครือข่ายสังคม “Sina Weibo”
สือ อิ้นหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่งถึงกับมองว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า เกาหลีเหนือภายใต้การปกครองของคิม จองอึนหาเป็นมิตรกับจีนไม่
ที่ผ่านมา จีนได้ให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือ ซึ่งเศรษฐกิจทรุดโทรมอย่างหนัก โดยให้ความสนับสนุนทั้งด้านอาหาร การค้า และน้ำมันเชื้อเพลิงมาอย่างดีโดยตลอด รัฐบาลเปียงยางเองก็ยังต้องซุกปีกของจีน ที่คอยปกป้องบนเวทีการทูตในองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น นักวิเคราะห์ชี้ว่าการให้ความสนับสนุนช่วยเหลือกันจนเคยชินนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกาหลีเหนือลืมตัว ขาดความเคารพพญามังกร
นอกจากนั้น เกาหลีเหนือยังทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ เมื่อเดือนก.พ.ในการช่วยเหลือด้านอาหาร แลกเปลี่ยนกับการยุติโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ แต่กลับไม่แจ้งให้จีนทราบล่วงหน้าให้สมกับที่เป็นมิตรสนิทกัน
มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้นำหนุ่ม ซึ่งได้รับการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ต้องการอยู่ในโอวาทของจีนได้แก่การปฏิรูปเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ ซึ่งจีนพยายามโน้มน้าวให้เขาลงมือทำเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก โดยดำเนินตามรูปแบบการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนของผู้นำเติ้ง เสี่ยวเผิงเมื่อกว่า 3 ทศวรรษก่อน เนื่องจากจีนเกรงว่า หากเศรษฐกิจโสมแดงพัง ก็จะส่งผลให้เกิดผู้อพยพทะลักเข้ามาในจีน
อีกหลายเดือนต่อมา ผู้นำเกาหลีเหนือได้ออกคำสั่ง ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “คำสั่งวันที่ 28 มิถุนายน” (June 28 directive) ซึ่งเป็นการบุกเบิกระบบการบริหารจัดการเศรษฐกิจครั้งใหม่ และมีการวางนโยบาย เช่นมาตรการจูงใจสำหรับคนงานและเกษตกร เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต
ทว่าในการประชุมสภาตรายางของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ก็มิได้มีการประกาศดำเนินการทดลองปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบตลาดอย่างเป็นทางการ
แทนการมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจ คิมน้อยกลับใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปีทีผ่านมา มุ่งสร้างฐานอำนาจการเมืองของตนให้แข็งแกร่ง ด้วยการปรับโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนายทหารระดับสูง ขณะเดียวกันก็เดินหน้าโครงการขีปนาวุธของคิมผู้บิดา
การยิงจรวดส่งดาวเทียมถึงสองครั้งสองคราของเกาหลีเหนือในรอบปีนี้กล่าวคือเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งประสบความล้มเหลว และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้จีนเสียฟอร์ม ที่ไม่อาจใช้อิทธิพล กดดันให้เกาหลีเหนือล้มเลิกแผนการ ท่ามกลางเสียงประณามเกาหลีเหนือจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เชื่อกันว่า เบื้องหลังการยิงจรวดส่งดาวเทียมนี้คือการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล ที่จะสามารถยิงไกลถึงสหรัฐฯ และติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ในวันหนึ่ง
ที่ผ่านมา จีนไม่เคยตำหนิเกาหลีเหนือต่อสาธารณชนเลย แต่การยิงจรวดส่งดาวเทียมครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนทำให้จีนร่วมลงมติกับคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นประณามเกาหลีเหนือ
ล่าสุดรายงานของหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้และภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นการขุดอุโมงค์ครั้งใหญ่ในเขตทดสอบนิวเคลียร์ของโสมแดง อันเป็นการเตรียมทดสอบนิวเคลียร์ครั้งใหม่ ซึ่งจะนับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 ปีนี้ หากเกาหลีเหนือเดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์ก็จะยิ่งทำให้จีนรู้สึกว่า เกาหลีเหนือไม่เห็นหัวพญามังกรอย่างตน
จีนแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อแผนการยิงจรวดส่งดาวเทียมครั้งที่สอง ซึ่งมีการประกาศหลังจากตัวแทนของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่เข้าพบหารือกับคิม จองอึน ที่กรุงเปียงยางเพียง 1 วัน
ครั้นเมื่อเกาหลีเหนือยิงจรวดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ จีนก็ได้แต่ออกมากล่าวว่า เสียใจ ทว่าก็เตือนคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นให้โต้ตอบเกาหลีเหนืออย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียด
จีนคงไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เกาหลีเหนือไปมากกว่านี้ จอห์น เดอลูรี ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยยอนเซในเกาหลีใต้เชื่อว่า ความระแวงสงสัยและความไม่ลงรอยกันนี้ไม่น่าจะหนักหนาจนถึงขั้นทำลายความเป็นพันธมิตระหว่างผู้นำคอมมิวนิสต์ทั้งสองชาติ ซึ่งชอบกล่าวว่า ฝังแน่นในสายโลหิตลงได้
อีกทั้งเกาหลีเหนือยังมีค่าสำหรับจีนในฐานะรัฐกันชน เพื่อขัดขวางอิทธิพลของสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลประการสำคัญที่สุดที่ทำให้จีนไม่อาจหมางเมินโสมแดงจนเกินงามได้