เอเอฟพี - ผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือ เป็นประธานในพิธีรำลึกครบรอบ 1 ปีการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตผู้นำ คิม จอง อิล ท่ามกลางเจ้าหน้าที่และทหารโสมแดงหลายพันชีวิตที่มาร่วมไว้อาลัย หลังจากที่เกาหลีเหนือเพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อ 4 วันก่อน สถานีโทรทัศน์เกาหลีเหนือแพร่ภาพวันนี้ (16)
พิธีรำลึกถึงอดีตผู้นำคิมถูกจัดขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ (16) หลังจากที่เกาหลีเหนือเพิ่งจัดเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงเปียงยางเมื่อวันศุกร์ (14) เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการยิงดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องออกมาประณาม ขณะที่นานาชาติยังเชื่อว่าโครงการดังกล่าวของโสมแดง มิใช่อะไรอื่นนอกจากแผนอำพรางการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล
อดีตผู้นำ คิม จอง อิล ซึ่งปกครองเกาหลีเหนือมานานร่วม 2 ทศวรรษ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ปี 2011 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวขณะเดินทางด้วยรถไฟออกไปตรวจเยี่ยมพื้นที่นอกกรุงเปียงยาง
คิม จอง อึน ผู้เป็นบุตรชายคนเล็ก เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากบิดาทันที และถือเป็นการสืบอำนาจรุ่นที่ 3 ของตระกูลคิมที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือรัฐคอมมิวนิสต์โสมแดง และเผยแพร่ลัทธิคลั่งไคล้ผู้นำสูงสุดมานานกว่า 60 ปี
เช้าวันนี้ (16) คิม จอง อึน ในชุดสูทสีดำแบบประธานเหมาเจ๋อตง ยืนอยู่บนเวทีท่ามกลางเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยมีฉากหลังเป็นรูปอดีตผู้นำคิมในสีหน้ายิ้มแย้มอยู่บนผืนธงสีแดง
“หัวใจของท่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่หยุดเต้นไปแล้วก็จริง แต่สหาย คิม จอง อิล ยังคงอยู่กับพวกเราตลอดไป เพื่ออวยพรให้ประชาชนของเรามีอนาคตสดใส” คิม ยอง นัม ประธานสภาสมัชชาประชาชนสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ระบุในสุนทรพจน์
“การส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของกองทัพและประชาชนของเรา ที่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความศรัทธา”
หลายฝ่ายเชื่อว่า เกาหลีเหนือเลือกยิงดาวเทียมในช่วงนี้เพื่อเป็นการสดุดีอดีตผู้นำคิมในวันครบรอบการถึงแก่อสัญกรรม และยังช่วยเสริมแรงศรัทธาในตัวของ คิม จอง อึน ซึ่งอายุยังน้อยและอ่อนประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง
เกาหลีเหนือ ระบุว่า การส่งจรวดที่ล้มเหลวไปเมื่อเดือนเมษายนและประสบความสำเร็จสมความตั้งใจในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่สหรัฐฯ, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เชื่อว่า เป็นแผนอำพรางการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งเปียงยางถูกสั่งไว้ห้ามด้วยมติยูเอ็นในปี 2006 และ 2009