เอเอฟพี - ความสำเร็จของเกาหลีเหนือในการส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 ขึ้นสู่วงโคจรในวันนี้ (12) คือหลักฐานที่ชัดเจนว่า โครงการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลของโสมแดงได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้รัฐที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลกแห่งนี้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ โดยตรง นักวิเคราะห์เตือน
แม้เกาหลีเหนือจะยังต้องฟันฝ่าปัญหาด้านเทคนิคอีกมากเพื่อที่จะออกแบบ, ติดตั้ง และส่งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ตรงเป้าหมาย ทว่าความสำเร็จในการยิงดาวเทียมสู่อวกาศก็ถือเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญในเชิงศักยภาพของกองทัพโสมแดง
“การยิงดาวเทียมครั้งนี้จะทำให้ถ้อยแถลงของเกาหลีเหนือฟังดูน่าเชื่อถือขึ้น หากวันหนึ่งพวกเขาอ้างว่ามีขีปนาวุธที่โจมตีถึงดินแดนสหรัฐฯ ได้... หลายคนคงยากจะปฏิเสธ เมื่อเกาหลีเหนือทำสำเร็จไปแล้วเช่นนี้” เจมส์ ชอฟฟ์ นักวิเคราะห์จากกองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประกาศครอบครองขีปนาวุธพิสัยไกลซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายในสหรัฐฯได้แล้ว ทว่าขณะนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าเป็นแค่ราคาคุยของรัฐบาลโสมแดงมากกว่า
มาซาโอะ โอโกโนกิ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเกาหลีจากมหาวิทยาลัยเคอิโอะ ยอมรับว่าการส่งดาวเทียมในวันนี้ (12) จะทำให้เกาหลีเหนือกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงลำดับต้นๆ ของสหรัฐฯ
“เมื่อคุณยิงดาวเทียมได้ก็หมายความว่าคุณมีเทคโนโลยีก้าวหน้าพอที่จะส่งหัวรบไปยังเป้าหมายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น วันนี้เกาหลีเหนือไม่ใช่แค่ภัยคุกคามของเพื่อนบ้าน แต่ยังเป็นภัยต่อสหรัฐฯ ด้วย”
“สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปก็คือ เกาหลีเหนือส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรได้แม่นยำขนาดไหน”
เจ้าหน้าที่วอชิงตัน และโซล ระบุว่า คงต้องใช้เวลาอีกหลายวันจึงจะวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ในการยิงดาวเทียมเกาหลีเหนือได้อย่างละเอียด
แม้ท้ายที่สุดจะปรากฏว่าดาวเทียมโสมแดงเข้าสู่วงโคจรตามแผนที่กำหนด แต่นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่านั่นอาจมิใช่ดัชนีชี้วัดศักยภาพทางทหารของเกาหลีเหนือ เพราะการย่อส่วนอาวุธนิวเคลียร์ให้กลายเป็นหัวรบที่ติดตั้งบนขีปนาวุธได้นั้น ถือเป็นโจทย์ทางเทคนิคที่ท้าทายยิ่งกว่า และยังต้องคำนวณพิสัยยิงเพื่อให้หัวรบโจมตีตรงเป้าหมายที่ต้องการ
“การสร้างขีปนาวุธที่โจมตีได้ถึงฮาวาย กับการทำให้ขีปนาวุธมีความแม่นยำนั้น เป็นคนละเรื่องกัน” ราล์ฟ คอสซา ประธานสถาบันวิจัย แปซิฟิก ฟอรัม ซีเอสไอเอส (Pacific Forum of the Center for Strategic and International Studies) ในรัฐฮาวาย ให้สัมภาษณ์
“จากที่เห็นในวันนี้ พวกเขามีโอกาสสูงมากที่จะโจมตีมหาสมุทรแปซิฟิกได้ แต่อาจไม่ใช่เกาะใดเกาะหนึ่ง หรือเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงยิ่งกว่านั้น”
“อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ก้าวหน้าไปจากเดิมมาก เราจึงต้องเฝ้าระวังพวกเขาอย่างจริงจัง”
ความคืบหน้าของโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือยังคงเป็นปริศนาสำหรับโลกภายนอก แต่มีการประเมินว่า เปียงยางน่าจะมีพลูโตเนียมมากพอผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ 6-8 ลูก
ฮัม ฮยอง-พิล ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิเคราะห์กลาโหมแห่งเกาหลีใต้ ทำนายว่า หลังจากนี้เปียงยางจะต้องเร่งพัฒนาการผลิตหัวรบนิวเคลียร์ และปรับปรุงขีปนาวุธให้มีความแม่นยำขึ้นอย่างแน่นอน
“ส่วนตัวผมเชื่อว่า เกาหลีเหนือคงใช้เวลาอีกไม่นานนักที่จะปรับปรุงเทคโนโลยีทั้ง 2 ด้านนี้ให้สมบูรณ์แบบ โดยอาจจะมีการทดลองอีก 2-3 ครั้ง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง” ฮัมกล่าว
“สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก ผมคิดว่าสหรัฐฯ คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากถือว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมสำหรับพวกเขา”
หลายฝ่ายเชื่อว่า คิม จอง อึน ผู้นำหนุ่มแห่งเกาหลีเหนือ เจาะจงให้มีการส่งจรวดในช่วงครบรอบ 1 ปีการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตผู้นำ คิม จอง อิล ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ธันวาคมนี้
“ความครั้งนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ทำให้สถานะผู้นำประเทศของคิม จอง อึน และอำนาจบารมีของเขาเข้มแข็งยิ่งขึ้น” ยาง มู-จิน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษาในกรุงโซล ให้ความเห็น
แผนการส่งจรวด อึนฮา-3 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งเกาหลีเหนือเชื้อเชิญสื่อต่างประเทศเข้าไปทำข่าวด้วยนั้น ต้องปิดฉากลงอย่างน่าอับอาย เมื่อจรวดเกิดระเบิดเป็นเสี่ยงๆ หลังปล่อยจากฐานยิงได้เพียงไม่กี่นาที
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมจัดประชุมด่วนในวันนี้ (12) เพื่อหารือถึงมาตรการตอบโต้ความดื้อรั้นของเปียงยาง โดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเรียกร้องให้ยูเอ็นเพิ่มบทลงโทษที่ได้ประกาศไปตั้งแต่เปียงยางทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2006 และ 2009 ให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจีนซึ่งเป็นมหามิตรเพียงชาติเดียวของเกาหลีเหนือ จะใช้สิทธิ์วีโตเหมือนเช่นที่ผ่านมาหรือไม่