ASTVผู้จัดการ – เมื่อผู้นำจีนประกาศพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเลในการประชุมสมัชชา 18 ก็เริ่มปรากฎภาพชัดว่าจีนเตรียมทุ่มเงินนับล้านล้านบาทในช่วง 18 ปีข้างหน้า พัฒนากองเรือที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน 4 ลำ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของตน-กระตุ้น ศก.ภายในประเทศ แต่คงจะสร้างความหวาดหวั่นให้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อย
ช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ย. 2555 ในวันเปิดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 18 หรือ สมัชชาฯ 18 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้กล่าวรายงานผลการบริหารงานและแผนการบริหารประเทศต่อพรรคฯ ในอนาคต ยาวกว่า 100 นาที ครอบคลุมเนื้อหา 12 หัวข้อใหญ่
เมื่อกล่าวถึงหัวข้อที่ 9 การขับเคลื่อนและพัฒนาการปกป้องชาติและกองทัพให้มีความทันสมัย ตอนหนึ่งผู้นำสูงสุดของจีนกล่าวว่า “เราต้องปรับปรุงศักยภาพในการแสวงหาทรัพยากรทางทะเล แน่วแน่ต่อการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลของจีน และสร้างกองทัพเรือจีนให้มีความแข็งแกร่ง” นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า “จีนจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางทะเล อวกาศ และไซเบอร์สเปซ”
การหยิบเรื่องการพัฒนากองทัพเรือและการขยายแสนยานุภาพทางทะเลเข้ามาใส่ในรายงานฉบับล่าสุดที่เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนบ่งชี้ให้เห็นว่า บรรดาผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วางแผนเรื่องนี้เอาไว้ค่อนข้างแน่ชัดแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง
หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ อ้างถึงทัศนะของ นายสีว์ กวงอี้ว์ ที่ปรึกษาอาวุโสสมาคมควบคุมและปลดอาวุธแห่งจีน ระบุว่า แต่ไหนแต่ไรมาการพัฒนากองทัพของจีนนั้นเน้นไปที่กองกำลังทางบก ส่วนศักยภาพของการรบทางทะเลนั้นค่อนข้างอ่อนด้อย และไม่เพียงพอ นี่เองคือสาเหตุว่าทำไมในวันที่ 8 พ.ย. นายหูจึงระบุว่าจีนจะต้องพัฒนากองกำลังทางทะเล
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ทั้งนายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการทหาร พร้อมกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ได้เดินทางเข้าร่วมในพิธีการส่งมอบและเข้าประจำการกองทัพของเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่ถูกพัฒนามาจากเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยัคของยูเครนที่มีศักยภาพในการแล่นเลียบชายฝั่งทะเลของจีนที่มีความยาวนับหมื่นกิโลเมตรอย่างสบายๆ
การเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก และการประกาศนโยบายเร่งพัฒนาศักยภาพของกำลังทางทะเล ถือว่าประจวบเหมาะและสอดคล้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งและข้อพิพาททางทะเล ซึ่งกลับมาปะทุอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในน่านน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ในช่วงปีนี้
นายหลัว เจ้าฮุย อธิบดีกรมเอเชียแห่งกระทรวงการต่างประเทศจีน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ และคณะสื่อมวลชนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาปัญหาข้อพิพาททางทะเลที่มีส่วนเกี่ยวพันหรืออยู่ใกล้กับเขตแดนของจีนมี 4 เรื่องใหญ่ด้วยกันคือ หนึ่ง ปัญหาข้อพิพาทเกาะคูนาชีร์ หรือคูนาชิริ ทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโดระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น สอง ปัญหาข้อพิพาทกรณีเกาะด็อกโดในหรือทาเคชิม่า ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น สาม ข้อพิพาทกรณีหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์หรือเซนกากุ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่ลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตในปัจจุบัน และ สี่ ปัญหาข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายชาติ คือ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย
อธิบดีกรมเอเชียแห่งกระทรวงต่างประเทศจีนยืนยันว่า ในกรณีความขัดแย้งทางทะเลที่เกี่ยวพันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนั้นทางจีนเห็นว่าต้นตอมาจากการขยายตัวของแนวคิดฝ่ายขวาในแวดวงการเมืองญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และยืนยันว่าจีนไม่มีทางถอยในกรณีหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์(เซนกากุ) โดยพยายามจะแก้ปัญหาผ่านทางมาตรการทางการทูตและการเจรจา แต่ก็จะไม่พยายามขุดเรื่องเก่าขึ้นมาเพื่อขยายผลให้ปัญหาลุกลามมากขึ้นเช่นกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าซื้อเกาะเซนกากุจากเอกชนในวันที่ 10 ก.ย. และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นการประท้วงอย่างรุนแรงจากทั้งฝั่งรัฐบาลและภาคประชาชนของจีน ถึงปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว ความสัมพันธ์ในระดับรัฐต่อรัฐ และเอกชนต่อเอกชนระหว่างทั้งจีนกับญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ อย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น ถึงทุกวันนี้พ่อค้าแม่ขายตามท้องถนนในประเทศจีนจำนวนมากยังคงปฏิเสธที่จะขายของให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ไม่นับรวมถึงความซบเซาทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ
ในส่วนของปัญหาความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้นายหลัว ระบุว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี โดยทางจีนเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการเปิดโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีบางประเทศที่เกี่ยวข้องยังคงขาดความพร้อม
ทุ่มล้านล้านบาทสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ
แม้นักการทูตของจีนจะยืนยันว่า ในประเด็นปัญหาข้อพิพาททางทะเล ฝั่งจีนจะใช้การแก้ปัญหาด้วยวิถีทางสันติ ผ่านกระบวนการทางการทูตและการพูดคุยบนโต๊ะเจรจา แต่การที่กองทัพจีนเริ่มดำเนินการส่งเรือไห่สวิน 31 เรือลาดตระเวนระวางใหญ่ที่สุดของจีน ออกลาดตระเวนบริเวณชายฝั่งในสามมณฑลและหนึ่งเขตปกครองตนเอง คือ กวางสี กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน และเกาะไหหลำ ในน่านน้ำที่ติดกับทะเลจีนใต้ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมาก็สร้างความหวาดหวั่นกับประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อย
ในหน้าทัศนะของหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี ฉบับวันอังคารที่ 6 พ.ย. นายหวัง เป่าคุน รองศาสตราจารย์จากสถาบันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์เพื่อการป้องกันประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมินได้เขียนสนับสนุนการสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน โดระบุว่า กองทัพปลดแอกของจีนมีแนวโน้มที่จะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอีกจำนวน 4 ลำ
“จากการคาดการณ์ของผม จีนจะต้องใช้เงินประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 210,000 ล้านบาท) ในการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ และใช้อีก 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 900,000 ล้านบาท) ในการพัฒนากองเรือดังกล่าวให้สมบูรณ์” รศ.หวัง กล่าวสนับสนุนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมระบุว่า งบประมาณจำนวนมหาศาลดังกล่าวไม่น่าจะกระทบกับงบประมาณแผ่นดินที่ต้องใช้จ่ายในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย การศึกษา สาธารณสุข และโครงการพัฒนาความมั่นคงทางสังคมต่างๆ เพราะเงินสำหรับการสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนดังกล่าวจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2573 (ค.ศ.2030) ที่น่าจะพุ่งสูงถึง 17.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น
นักวิชาการจาก ม.เหรินหมินกล่าวด้วยว่า โครงการจัดสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินมูลค่าล้านล้านบาทของจีนที่เป็นโครงการระยะยาวกว่า 20 ปีนี้จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจเรือบรรทุกเครื่องบิน (Aircraft Carrier Economy)” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมายมหาศาลมูลค่านับเป็นแสนๆ ล้านหยวน
โครงการพัฒนาแสนยาสุภาพทางทะเลของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน และเศรษฐกิจเรือบรรทุกเครื่องบินภายใต้การชี้นำของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนคงจะค่อยๆ ปรากฎเป็นรูปเป็นร่างในไม่ช้า และคงจะเป็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าโครงการดังกล่าวจะต้องเผชิญอุปสรรคและเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้านของจีนอีกมากมาย ไม่นับกับการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจทางทะเลของโลกตัวจริงในปัจจุบันอย่างสหรัฐอเมริกา