ไชน่าเดลี่ - อัตราเงินเฟ้อแดนมังกรชะลอตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี แต่นักวิเคราะห์เตือนอย่างเพิ่งวางใจ
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนประกาศเมื่อวันศุกร์ (9 พ.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ( CPI ) ซึ่งเป็นดัชนีหลักในการชี้วัดเงินเฟ้อ ประจำเดือนต.ค. ปรับขึ้นร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นการชะลอการปรับขึ้นจากร้อยละ 1.9 เมื่อเดือนก.ย. และร้อยละ 2 เมื่อเดือนส.ค.
นายจาง ลี่คุน นักวิเคราะห์ประจำศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลจีนระบุว่า ราคาอาหาร ซึ่งรวมทั้งผักและเนื้อสุกร มีส่วนฉุดให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2553 โดยราคาเนื้อสุกร ซึ่งเป็นอาหารหลักของจีน ลดลงร้อยละ 15.8 ในเดือนต.ค. เนื่องจากปริมาณการผลิต ที่มีมากมาย
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีน ซึ่งชี้วัดเงินเฟ้อในระดับการขายส่ง ประจำเดือนต.ค. ปรับลงร้อยละ 2.8 ซึ่งปรับลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยมีการปรับลงของดัชนี PPI เป็นครั้งแรกในเดือนมี.ค. นับตั้งแต่เดือนธ.ค 2552 เป็นต้นมา
ข้อมูลดัชนี PPI นี้สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ ( PMI) ของจีนในเดือนต.ค. ซึ่งเพิ่มร้อยละ 50.2 จากร้อยละ 49.8 ในเดือนก.ย. บ่งชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนกระเตื้องขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จีนใกล้บรรลุเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ในการรักษาอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีให้อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 แต่นักวิเคราะห์ก็ได้เตือนให้รัฐบาลปักกิ่งระวังการปรับขึ้นของดัชนี CPI ในเดือนพ.ย. และธ.ค. เนื่องจากสภาพอากาศหนาวอาจผลักดันให้ราคาผักและเนื้อสุกรแพงขึ้นได้
นอกจากนั้น ยังได้เตือนให้ระวังเงินเฟ้อ ซึ่งถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ อันเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE3 รอบใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกด้วย