รอยเตอร์ - ความสัมพันธ์ด้านการค้า ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นประเด็นใหญ่ในศึกชิงทำเนียบขาวอีกประเด็นหนึ่งระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า จากพรรคเดโมแครต และนายมิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซ็ตต์ จากพรรครีพับลิกัน โดยในการหาเสียงโอบาม่ามักอ้างผลงาน ที่ทำสำเร็จ ขณะที่รอมนีย์ให้สัญญาว่า ถ้าชนะการเลือกตั้งจะใช้กลยุทธ์ ที่ ที่พญามังกรจะไม่มีทางเคี้ยวสหรัฐฯได้ง่าย ๆ อย่างเช่นที่ผ่านมา
ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบจุดยืน ที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลทั้งสองในด้านการค้ากับจีน
สหรัฐฯ-จีน
ยอดขาดดุลการค้า ที่สหรัฐฯ มีกับจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระหว่างการบริหารประเทศในสมัยรัฐบาลจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน สลับกันมาหลายสมัยแล้ว กล่าวคือจาก 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2528 จนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 295,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2554 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผงาดของจีนในฐานะผู้ผลิตอุตสาหกรรรมระดับโลก และการเล่นบทบาทผู้บริโภครายใหญ่ ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจมะกันอีกด้วย
จนถึงขณะนี้สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องจีนต่อองค์การการค้าโลก ( WTO)ถึง 15 คดีแล้ว
8 คดียื่นในรัฐบาลของโอบาม่า นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนม.ค. 2552 ขณะที่ในรัฐบาลชุดก่อนหน้าคือรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ยื่นฟ้องทั้งหมด 7 คดี
ในปีนี้โอบาม่ายังได้จัดตั้งหน่วยงานบังคับการค้า ซึ่งเป็นการรวบรวมทรัพยากรต่าง ๆจากฝ่ายบริหาร เพื่อควบคุมดูแลให้จีนและชาติอื่น ๆ ปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม รอมนีย์ระบุว่า โอบาม่านั้นไม่ดำเนินการเชิงรุกมากพอในการจัดการกับระเบียบปฏิบัติทางการค้า ที่ไม่เป็นธรรมของจีน และเขาประกาศว่าจะใช้ทั้งมาตรการขู่คว่ำบาตรพญามังกร และประสานความร่วมมือกับชาติพันธมิตร เพื่อบีบให้จีนยึดมั่นต่อกฎระเบียบการค้าโลกให้ได้
รอมนีย์ยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายยอมทนกับ “การขาดดุลการค้าก้อนใหญ่และดูเหมือนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกับจีน” แต่สหรัฐฯ เองต้องเรียกร้องให้บริษัทของสหรัฐฯ เข้าไปค้าขายบนแดนมังกรได้อย่างเสรีเหมือนกับที่บริษัทจีนต้องเข้ามาค้าขายในประเทศสหรัฐฯ เช่นกัน
สกุลเงินหยวน
ประเด็น ที่เป็นข้อกล่าวหาเผ็ดร้อนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจนี้ได้แก่ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีน
ส.ส.และบริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมแดนลุงแซมมากมายกล่าวหารัฐบาลปักกิ่งว่า เป็นผู้ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าอย่างไตร่ตรองเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้บริษัทของตัวเองได้เปรียบในการขายสินค้าด้วยราคา ที่ถูกกว่าชาติอื่น ๆ ในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม โอบาม่ากลับทำให้บรรดาผู้สนับสนุนเขาผิดหวังไปตาม ๆ กัน เมื่อในรายงานฉบับครึ่งปีของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งออกมาแล้ว 7 ฉบับ ไม่มีการเรียกจีนอย่างเป็นทางการว่า นักบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) ทั้งที่โอบาม่าเองก็เคยตำหนิบุชมาก่อน ที่ไม่ทำเช่นนี้
แทนที่จะระบุให้ชัดเจนลงไปว่า จีนคือนักบิดเบือนค่าเงิน แต่ในที่สุดโอบาม่าก็ใช้วิธีการเดียวกับบุชคือการกดดันทางการทูต เพื่อบีบให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ซึ่งโอบาม่าก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง
สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศประเมินเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่ามมาว่า เงินหยวนอ่อนค่าร้อยละ 7.7 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับการประเมินเมื่อเดือนก.ค. 2551 ซึ่งเงินหยวนอ่อนค่าถึงร้อยละ 31.5 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านรอมนีย์ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีนั้นให้สัญญาว่า ในทันทีที่เข้าทำงานในทำเนียบขาวเป็นวันแรก เขาจะประกาศว่า จีนเป็นนักบิดเบือนค่าเงิน
นอกจากนั้นระหว่างขึ้นเวทีหาเสียง รอมนีย์ยังวิจารณ์รัฐบาลของโอบาม่าว่า ถ่วงเวลาการออกรายงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งกำหนดออกในวันที่ 15 ต.ค. แต่หน่วงเหนี่ยวให้เผยแพร่ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 6 พ.ย. ไปแล้ว
รอมนีย์ยังให้คำมั่นว่า จะอนุญาตให้กระทรวงพาณิชย์สหร้ฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อชดเชยที่สหรัฐฯ ต้องเสียเปรียบจากการอ่อนค่าของเงินหยวน ซึ่งเป็นทางเลือกที่รัฐบาลของโอบาม่ามอง ๆ อยู่ แต่ในที่สุดกลับไม่ทำเสียงั้น