xs
xsm
sm
md
lg

ทัพเรือจีนซ้อมรบ จำลองเหตุกู้ภัยและปกป้องอธิปไตย ในทะเลจีนตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการซ้อมรบร่วมระหว่างกองทัพเรือจีน หน่วยยามฝั่ง และหน่วยตรวจการประมง ในบริเวณน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก หรือตงไห่ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. (ภาพจาก จงกว๋อจวินหวั่ง)
เอเยนซี--วันนี้ (19 ต.ค.) กองทัพเรือจีนเริ่มเปิดฉากการฝึกซ้อมรบร่วมใน “ปฏิบัติการความร่วมมือทะเลจีนตะวันออก ปี 2555” โดยฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือ หน่วยยามฝั่ง และหน่วยเรือตรวจการประมง ในบริเวณน่านน้ำทะเลตะวันจีนออก หรือตงไห่ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นกรณีพิพาทเกาะเตี้ยวอี๋ว์

สื่อรัฐบาลรายงาน แต่ไหนแต่ไรมา ทะเลจีนตะวันออกถือเป็นน่านน้ำของจีน แต่เนื่องจากหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก รวมทั้งปัญหาที่จีนมีความขัดแย้งนานหลายปี อย่างบ่อน้ำมันและเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น รวมทั้งยังส่งหน่วยเรือขีปนาวุธ (Missile boat) แล่นเข้ามาลาดตระเวนในบริเวณน่านน้ำทะเลตะวันออกนี้ด้วย จึงทำให้เกิดการฝึกครั้งนี้ขึ้น และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความมุ่งมั่นที่จะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเล และดินแดนอธิปไตย

จากแถลงการณ์ระบุว่า การฝึกร่วมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยเรือตรวจการณ์ทะเลจีนตะวันออก สังกัดกองทัพเรือ หน่วยควบคุมและดูแลการประมงเขตทะเลจีนตะวันออก กระทรวงเกษตร และหน่วยทะเลจีนตะวันออก กรมสมุทรศาสตร์ ซึ่งเรือที่ฝึกซ้อมประกอบด้วย เรือรบ 11 ลำ และเครื่องบินอีก 8 ลำ

การฝึกซ้อมรบครั้งนี้ จำลองเหตุการณ์ว่า ในบริเวณน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก เรือตรวจการณ์และเรือตรวจการประมงถูกสะกดรอยตามโดยไม่มีสาเหตุ และถูกคุกคามและชนเสียหายโดยเรือต่างชาติ กองทัพเรือส่งกองเรือและเครื่องบินเข้าไปช่วยเหลือ

ในระหว่างการฝึกฯ เรือบังคับการจะฝึกแล่นตรวจตราโดยมีเรือรบของกองทัพเรือประกบหลัง พร้อมทั้งทดสอบเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเช่นกัน

หลิว เจิ้นตง รองผู้บังคับการการฝึกฯ และรองผู้อำนวยการหน่วยทะเลจีนตะวันออก กรมสมุทรศาสตร์ เผยว่า “การฝึกซ้อมรบครั้งนี้ จะทำให้กลไกความร่วมมือของกองทัพพัฒนาและนำมาใช้ได้จริง การฝึกครั้งนี้มีประสบการณ์จากการฝึก 2 ครั้งก่อน (ก.ย.) โดยจะยกระดับทั้งในด้านการสนับสนุนจากกองทัพเรือ ความปลอดภัยของกองส่งกำลังบำรุง เรือลาดตระเวนตรวจตราปกป้องอธิปไตย แบ่งข้อมูลร่วมกัน ความร่วมมือร่วมแรงในการบังคับบัญชา เป็นต้น”

เมื่อแถลงการณ์ดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ชาวจีนหลายคนต่างให้ความสนใจอย่างมาก บางคนเห็นว่าการฝึกครั้งนี้นำเอาเหตุเรือชนกันมาเป็นสถานการณ์สมมติ อาจจะเกิดขึ้นได้ในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์และเกาะพิพาทอื่นๆ ชาวเน็ตบางคนเห็นว่า การฝึกมีเป้าหมายเพื่อที่จะเพิ่มกำลังความแข็งแกร่งให้กองทัพจีน

กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ PLA ได้เคยจัดให้มีการฝึกซ้อมรบร่วมกับหน่วยยามฝั่งและหน่วยเรือตรวจการประมงอยู่หลายครั้ง

ข้อพิพาทกรณีเกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเริ่มสงบลง นับตั้งแต่ความไม่ลงรอยรุนแรงมากขึ้นช่วงเดือนส.ค. และก.ย.ที่ผ่านมา เกิดเป็นข้อพิพาทระดับชาติจากทั้งสองประเทศ และถึงแม้จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายต่างส่งเรือเข้ามาในบริเวณน่านน้ำเกาะพิพาทดังกล่าว โดยจีนส่งเรือตรวจการณ์และเรือเสบียงแล่นเข้ามาใกล้เกาะฯ เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ต่อมา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 ต.ค.) เครื่องบินญี่ปุ่นสำรวจพบเรือรบจีน 7 ลำ แล่นเข้าน่านน้ำเกาะของญี่ปุ่น และกำลังมุ่งหน้าไปทางเกาะเตี้ยวอี๋ว์ ทว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นออกมากล่าวว่า เรือรบจีนยังอยู่ห่างจากเตี้ยวอี๋วราว 200 กิโลเมตร และคาดว่าไม่น่าจะแล่นเข้ามาบริเวณเกาะฯ ส่วนฝ่ายจีนอ้างว่า เรือเหล่านี้อยู่ในระหว่างปฏิบัติการฝึกเป็นประจำอยู่

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. กองทัพเรือญี่ปุ่นครบรอบ 60 ปี และเปิดฉากซ้อมรบซึ่งมีเรือเข้าร่วมมากกว่า 40 ลำ รวมทั้งเรือดำน้ำ และในปีนี้ ญี่ปุ่นยังวางแผนซ้อมรบร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ โดยสมมติสถานการณ์ยึดเกาะคืนจากผู้บุกรุกต่างชาติด้วย

จากกระแสพิพาทเกาะฯ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว (2554) ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ผู้ผลิตค่ายรถยนต์โตโยต้า รายงานว่ากำลังวางแผนปิดโรงงานในจีนชั่วคราว เนื่องจากความต้องการสินค้าญี่ปุ่นลดฮวบ

กระแสพิพาทกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุน เริ่มคุกรุ่นขึ้นเมื่อญี่ปุนลงนามซื้อเกาะ 3 แห่งในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ที่มีทั้งหมด 5 เกาะ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นขยายวงกว้างในหลายเมืองใหญ่ของจีน กินเวลากว่า 8 วัน จนเมื่อวันที่ 20 ก.ย. การประท้วงเริ่มคลี่คลาย

เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก บริเวณน่านน้ำเกาะฯ เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

ฝ่ายจีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะฯ มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911) อย่างไรก็ตาม เกาะฯ ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลว่า เป็นของญี่ปุ่นที่ได้ผนวกรวมเข้าไปในปีพ.ศ. 2438 ทำให้จีนและญี่ปุ่นพิพาทกรรมสิทธิเหนือเกาะฯ นี้มาจนถึงปัจจุบัน

ภาพการฝึกซ้อมรบใน "ปฏิบัติการความร่วมมือทะเลจีนตะวันออก ปี 2555" ซึ่งเป็นการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือ หน่วยยามฝั่งและหน่วยตรวจการประมง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. (ภาพจาก จงกว๋อจวินหวั่ง)
(1)
(2)
(3)
(4)
(5)
(6)
(7)
(8)
(9)
(10)
(11)
(12)

กำลังโหลดความคิดเห็น