xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าสาวทองคำ ฮิตสวมทองไม่ต่ำกว่า 6 กก.เข้าพิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพื่อนๆกำลังช่วย “เจ้าสาวทองคำ” สวมเครื่องประดับทองที่หนักกว่า 6 กก. เพื่อเข้าพิธีแต่งงาน ในเมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน (ภาพ-เอเยนซี่)
เอเยนซี่-เมื่อเร็วๆนี้สื่อออนไลน์แห่งหนึ่งได้แพร่ภาพ “เจ้าสาวทองคำ” ที่พบเห็นจนชินตาในเมืองเฉียวนโจว โดยผู้สื่อข่าวได้ทำการสำรวจตามโรงแรมต่างๆที่อยู่ในเมืองเป็นเวลา 3 วัน จนพบว่าเจ้าสาวในเมืองนี้กำลังฮิตออกเรือนด้วยเครื่องประดับทองคำที่มีน้ำหนักมาก

เสียงกรุ๊งกริ๊งของทองที่สวมอยู่บนตัวเจ้าสาว บ่งบอกความหวานชื่นหรือภาระทางการเงิน? ในยุคสมัยที่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับราคาบ้านและค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน ปัญหานี้ทำให้เราต้องกลับมาขบคิด

ผู้ให้บริการจัดงานแต่งงานคนหนึ่งพูดเกี่ยวกับ “เจ้าสาวทองคำ” ที่เห็นจนชินตาในเมืองฉวนโจวว่า ในบรรดากองสินสอดทองหมั้นที่เขาเห็นนั้น กองหนึ่งมีทองมากสุดกว่า 6 กก.ซึ่งนอกจากจะสวมอยู่บนตัวเจ้าสาวแล้ว ยังมีทองแท่งและเหรียญทองคำอีก

สุดสัปดาห์ก่อน เป็นวันแต่งงานของสาวแซ่หลิววัย 26 เธอตื่นขึ้นแต่งตัวแต่เช้า โดยมีแม่และพี่สาวช่วยสวมเครื่องประดับทองคำแท้ ประกอบด้วย กำไลข้อมือหงส์คู่มังกร 10 วง สร้อยข้อมือ 8 เส้น สร้อยคอขนาดใหญ่ 5 เส้น ขนาดปกติ 10 เส้น แหวน 20 วง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการสวมใส่ราวครึ่งชั่วโมง

“มันหนักจริงๆค่ะ ฉันต้องสวมเครื่องประดับทองทั้งหมดนี้ตลอดทั้งวัน ยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า” ในเมืองเฉวียนโจว บ้านของสาวหลิวถือว่าเป็นบ้านที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างสูง ดังนั้นทองที่เธอสวมใส่จึงมีจำนวนค่อนข้างมาก แต่ทว่ายังมีสาวอื่นอีกจำนวนไม่น้อยที่สวมทองมากกว่าเธอ

“เพื่อนของฉันอีก 2 คนต้องใส่กำไลหงส์คู่มังกร 20 วง แต่ใส่ได้จำนวนหนึ่ง ที่เหลือต้องใช้สร้อยทองร้อยรวมกันแล้วสวมเป็นสร้อยคอกำไลทอง ยังมีทองอีก 10 กว่าแท่งที่ใช้เชือกสีแดงร้อยรวมกันแล้วสวมใส่ ทั้งเนื้อทั้งตัวสว่างไสวไปด้วยทอง มองไม่เห็นลวดลายหงส์มังกรที่ปักอยู่บนกี่เพ้า แต่งออกแบบนี้ดูดีก็จริง แต่เวอร์เกิน” เพื่อนเจ้าสาวคนหนึ่งของสาวหลิวให้ความเห็น

แม่ของสาวหลิวบอกว่า พอลูกสาวของเธออายุถึงเกณฑ์แต่งปุ๊บ ที่บ้านก็เริ่มจัดเตรียมเครื่องประดับทองไว้ให้เธอ แม้สองปีมานี้ราคาทองสูงขึ้น แต่เพื่อให้ลูกได้ออกเรือนอย่างสง่าผ่าเผย จึงค่อยๆซื้อทองเก็บสะสมทีละนิด พอเห็นราคาทองตกก็ซื้อมากหน่อย ล่าสุดทองราคาสูงขึ้นอีก แต่ก็ช่วยไม่ได้ ก่อนวันแต่งยังไงก็ต้องซื้อเพิ่มอีกนิดหน่อย
“เจ้าสาวทองคำ” ฐานะปานกลางอีกคนของเมืองเฉวียนโจว (ภาพ-เอเยนซี่)
สาวเฉินซึ่งกำลังจะแต่งงานในเร็วๆนี้เช่นกัน พูดถึงจำนวนเครื่องประดับทองที่เธอต้องสวมใส่ว่า ตามประเพณีของชาวฮกเกี้ยน ทองคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานแต่ง และต้องพยายามหามาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ฐานะทางครอบครัวจะอำนวย

แม่ของสาวเฉินบอกว่า เพื่อให้ลูกสาวได้ออกเรือนอย่างมีหน้ามีตา พอลูกอายุ 17 เธอก็เริ่มสะสมทอง โดยในปีหนึ่งๆต้องซื้อสร้อยทอง 1 เส้นและแหวนทอง 1 วง ตอนนี้สาวเฉินอายุ 27 แหวนและสร้อยทองที่เก็บสะสมใน 10 ปีจึงมีจำนวนไม่น้อย ตอนราคาทองตกเธอรีบซื้อกำไลทอง 2 วง มาเก็บไว้ รวมกับสินสอดของเจ้าบ่าวและของขวัญของญาติๆ น่าจะมีมูลค่าพอๆกับกำไลทอง 5 วง

ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางไม่สามารถซื้อทองจำนวนมากในคราวเดียวได้ เพื่อนๆของสาวเฉินจึงพากันชื่นชมคุณแม่ว่า “มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลจริงๆ”

“บ้านที่มีกะตัง กำไลทองก็ต้องหนักตาม แต่บ้านเราใช้วิธีซื้อทองที่มีหน้าตัดใหญ่และบาง จะได้ดูดีมีสกุล วันแต่งอย่างน้อยก็ต้องมีทองสัก 3 เส้น เราไม่ได้บ้าทองนะ แค่อยากให้งานแต่งลูกเราดูอลังการเล็กน้อย คนมักจะบอกว่าอย่าไปสนใจจำนวนทอง แต่แขกที่มาในงานก็มักจะพูดกันแต่เรื่องทองว่ามีมากน้อยเท่าไหร่” แม่ของสาวเฉินกล่าว
ประเพณีการสวมใส่เครื่องประดับทองคำของเจ้าสาวชาวฮกเกี้ยนในเมืองเฉวียนโจว ส่วนใหญ่เป็นการทำตามความต้องการของผู้เฒ่าผู้แก่ (ภาพ-เอเยนซี่)
เจ้าสาวอีกคนซึ่งแต่งงานในโรงแรมแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีอีก 2 คู่ที่แต่งพร้อมกันในวันนั้น เพื่อนคนหนึ่งได้ยินแขกที่มางานบางคนพูดว่า คู่ฝั่งตรงข้ามมีทองเยอะกว่า ทำให้เธอรู้สึกแย่และอึดอัดใจพอสมควร

“ฐานะทางครอบครัวของเราด้อยกว่า ไม่มีปัญญาซื้อทองมากขนาดนั้น จึงใช้วิธีเลี้ยงโต๊ะน้อยหน่อย แต่เลือกโรงแรมที่ดูหรูหรา นี่เป็นสิ่งที่เราทำได้มากสุดแล้วในข้อจำกัดที่มีอยู่ เราไม่อยากให้ทองมาเป็นภาระที่ต้องจ่ายในภายหลัง นี่เราจัดงานแต่งเพื่ออวดรวยหรือ !” เจ้าสาวตั้งคำถามอย่างสุดทน

ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์เมืองเฉวียนโจวให้ความคิดเห็นว่า เจ้าสาวใส่ทองในงานแต่งถือเป็นประเพณีซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองเฉียวนโจว ชาวเมืองบางคนมีความคิดว่า จำนวนทองในสินสอดทองหมั้นเป็นการอวยพรให้เงินทองไหลมาเทมาสู่ครอบครัวทั้งสอง หรือเป็นการอวยพรให้ชีวิตคู่เต็มไปด้วยความหวานชื่น แต่หากกลายเป็นเรื่องแข่งกันรวย บ้านที่มีฐานะแย่กว่าก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน

เขากล่าวต่ออีกว่า ตามประเพณีการแต่งงานของชาวเมือง การสวมใส่ทองถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำต่อๆกันมา แต่ไม่มีการระบุจำนวน และการให้เจ้าสาวใส่เครื่องประดับทองต่างๆไม่ว่าจะเป็นกำไล สร้อย แหวน ฯ หมายถึง “การปิดล็อค” ให้ซื่อสัตย์ต่อสามี ไม่ให้มีใจเป็นอื่น และใส่เฉพาะในงานพิธีเท่านั้น ไม่ใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่การใส่ทองในพิธี เป็นการทำตามความต้องการของผู้เฒ่าผู้แก่ โดยคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มไม่สนใจความมากน้อยของทอง หรืออาจใส่เครื่องประดับที่ทำจากเงินหรืออื่นๆแทน
สร้อยคอกำไลทองจากการซื้อเก็บของคุณแม่ในแต่ละปีนั้น นอกจากเพื่อให้ลูกสาวได้แต่งออกอย่างสมศักดิ์ศรีแล้วยังแฝงความหมายของการอวยพรชีวิตคู่ (ภาพ-เอเยนซี่)
กำลังโหลดความคิดเห็น