เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ในสายตาของตะวันตกและคนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ ประเทศจีนได้เปลี่ยนสถานะจาก “คนป่วยแห่งเอเชีย (Sick Man of Asia)” ยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น “มหาอำนาจของโลก” แห่งศตวรรษใหม่
ความเจ็บปวดอันยาวนานกว่า 150 ปีจากสงครามภายนอก สงครามภายใน และการแก่งแย่งอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทุเลาลง ประเทศจีนกำลังก้าวเดินไปตามเส้นทางของ สังคมนิยมแบบกลไกตลาด (Market Socialism) ที่เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สองได้ออกแบบไว้ และเป็นไปตามแนวคิดการสร้างชาติบนพื้นฐานและเงื่อนไขเฉพาะของตัวเอง หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “สังคมนิยมเอกลักษณ์จีน (中国特色社会主义)”
แน่นอนว่า แนวคิด ขั้นตอน และวิธีการสร้างชาติของประเทศมหาอำนาจ ที่ระบุว่าตัวเองจะสร้างชาติตาม “เอกลักษณ์ของตัวเอง” ย่อมผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศเล็กๆ หรือประเทศผู้ตาม อย่างประเทศไทยที่จำต้องสมยอมให้ มหาอำนาจจากตะวันตก และบรรษัทข้ามชาติเข้ามาครอบงำในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น การวางแผนเศรษฐกิจ การออกแบบระบอบการเมือง การวางยุทธศาสตร์ทางการทหาร การแทรกแซงทางด้านการต่างประเทศ และที่สำคัญอย่างยิ่ง การครอบงำทางด้าน ความคิด-สังคม-วัฒนธรรม
ทฤษฎีแห่งการสร้างความสมัยใหม่ (Modernization Theory) อรรถาธิบายอย่างถี่ถ้วนว่าการก่อตั้งและขยายตัวของระบบสื่อสารมวลชนในชาติใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการผลัดผ่านของสังคมแบบดั้งเดิม (Traditional Society)และ การพัฒนาระบบสื่อสารมวลชนคือเครื่องมือในการพัฒนาบุคลิกภาพที่สะท้อน “ความสมัยใหม่” อันเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมตามแบบฉบับของสังคมเสรีนิยมฝังรากลึกขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ [1]
ในหนังสือระหว่างกระจกกับตะเกียง อ.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนชั้นนำของประเทศไทยระบุว่า “หากรัฐชาติสามารถคิดค้นนโยบายการสื่อสารที่เหมาะสมกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนา มาใช้ชี้นำพฤติกรรมของระบบการสื่อสารมวลชนของตนได้สำเร็จ โอกาสของรัฐชาตินั้นๆ ในอันที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเองท่ามกลางกระบวนการโลกานุวัตรก็จะสูงขึ้น ...” [2]
สำหรับผู้นำจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นองค์กรผู้กุมอำนาจระดับสูงสุดของประเทศ และเป็นผู้ชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศจีนมาตลอด 60 กว่าปี แน่นอนว่าการออกแบบ “นโยบายด้านสื่อสารมวลชน” ย่อมมีความละเอียดอ่อนและย่อมไม่สามารถหยิบยืมหรือลอกเลียนวิธีการของคนอื่นมาใช้ได้ เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อทั้งหมดมีความสอดคล้องกับทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และที่สำคัญต้องไม่สวนทางกับแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้กุมอำนาจรัฐ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในส่วนของหนังสือพิมพ์จีน ซึ่งเป็นประเภทของสื่อที่มีประวัติศาสตร์ในสร้างชาติอันยาวนาน และยังคงอิทธิพลในระดับสูงต่อการรักษาเสถียรภาพและกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีนแบ่งประเภทหนังสือพิมพ์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนังสือพิมพ์พรรคฯ หนังสือพิมพ์ระดับเมือง และหนังสือพิมพ์เฉพาะทาง [3]
• หนังสือพิมพ์พรรค (ตั่งเป้า; 党报 หรือ จีกวนเป้า; 机关报) คือหนังสือพิมพ์ที่ดูแลโดยหน่วยงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในระดับต่างๆ ซึ่งมีกลุ่มผู้อ่านคือ สมาชิกพรรค เจ้าหน้าที่พรรค นักวิชาการและปัญญาชนทุกระดับชั้นทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นสพ.ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า; 人民日报), ชานเข่าเซียวสิ (参考消息; Reference News), กวงหมิงรายวัน (光明日报) ล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีผู้อ่านนับล้านคนทุกวัน ซึ่งถือว่ามากติดอันดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนผู้อ่านที่มากมายมหาศาลดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจหรือแปลกใจอะไร หากพิจารณาจากตัวเลขจำนวนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปัจจุบันมีมากกว่า 80 ล้านคน (เรียกว่าประชากรของประเทศไทยเสียอีก) และงบประมาณที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้แต่ละหน่วยงานทั่วประเทศเพื่อซื้อเป็นหนังสือพิมพ์ประจำหน่วยงาน [4]
“ปี 2555 เหรินหมินรื่อเป้าเรามียอดพิมพ์วันละประมาณ 2.8 ล้านฉบับ แต่ปีหน้า 2556 เราตั้งเป้าว่าจะพิมพ์เพิ่มเป็น 3.0 ล้านฉบับ แม้ว่าในแต่ละปี หนังสือพิมพ์แต่ละเล่มทางกลุ่มของเราจะต้องประสบกับการขาดทุน ถึง 212 หยวน/เล่ม/ปี (ต้นทุนประมาณ 500 หยวน/เล่ม/ปี แต่มีรายได้เพียง 288 หยวน/เล่ม/ปี) แต่เราก็ต้องเพิ่มยอดพิมพ์ตามนโยบาย” คุณเหอ ซงหยวน รองประธานกลุ่มหนังสือพิมพ์ประชาชนรายวันเปิดเผยกับคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยของเราเมื่อครั้งไปเยือนในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2555
คำสัมภาษณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้จะต้องประสบกับภาวะขาดทุนมหาศาลจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์ของพรรค แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็หายี่หระไม่ เนื่องจากหนังสือพิมพ์อย่างเหรินหมินรื่อเป้าถือเป็นสื่อของศูนย์กลางพรรคฯ ที่มีอภิสิทธิ์เหนือสื่อประเภทอื่นๆ ในประเทศจีน โดยเนื้อหาเป็นข่าวสารสำคัญและสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของศูนย์กลางพรรคฯ ซึ่งถือเป็นมันสมองในการสั่งการของประเทศ
• หนังสือพิมพ์ระดับเมือง (ตูซื่อเป้า; 都市报) ถือเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเช่นเดียวกัน แต่หน่วยงานที่ดูแลเป็นหน่วยงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับมณฑลลงมา โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายของผู้อ่านระดับมวลชน ด้วยเนื้อหาที่เพิ่มความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของสามัญชน และประชาชนทั่วไป ทำให้ถูกรสนิยมกับชนชั้นกลางชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ
หนังสือพิมพ์ฉบับเย็น (หว่านเป้า; 晚报) หัวต่างๆ ทั่วประเทศจีนที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 นับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์ระดับเมืองที่มีเนื้อหาถูกรสนิยมประชาชน และถูกใจผู้อ่านในท้องตลาดได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวจีนในยุคหลังการปฏิรูปเปิดประเทศ จนทำให้ในปัจจุบันหนังสือพิมพ์ระดับเมืองเหล่านี้มียอดพิมพ์ที่สูงทัดเทียมกับหนังสือพิมพ์พรรคได้สบายๆ ยกตัวอย่างเช่น จากสถิติในปี 2554 (ค.ศ.2011) ระบุว่า หนังสือพิมพ์หยางจื่อหว่านเป้า (杨子晚报) หรือ Yangtse Evening Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของมณฑลเจียงซู มียอดพิมพ์สูงถึง 1.8 ล้านฉบับต่อวัน และถือเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดพิมพ์สูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศจีนเลยทีเดียว [5]
• หนังสือพิมพ์เฉพาะทาง (หังเย่เป้า; 行业报) หนังสือพิมพ์ประเภทนี้ในจีนถือเป็นส่วนเสริมของหนังสือพิมพ์สองประเภทแรก และมีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจที่เคลื่อนจากระบบสังคมนิยม เป็นระบบทุนนิยม ในห้วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา
การที่เศรษฐกิจจีนสามารถรักษาอัตราการเติบโตในระดับร้อยละ 9-10 ต่อปี มาได้นับเป็นสิบปีนั้นยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้สื่อเฉพาะทาง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการเงิน ธุรกิจการค้า อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ โทรทัศน์และภาพยนตร์ กีฬา คอมพิวเตอร์และไอที ฯลฯ มีอัตราการเติบโตอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์โทรทัศน์จีน (中国电视报) ที่มียอดพิมพ์ถึง 2 ล้านฉบับ ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 3 ของหนังสือพิมพ์ทั้งประเทศจีน นั้นถือเป็นผู้นำในตลาดหนังสือพิมพ์เฉพาะทาง รองลงมาคือ โลกกีฬารายสัปดาห์ (体坛周报) ที่มียอดพิมพ์ 1.6 ล้านฉบับ
ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,300 ล้านคน สถานภาพทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง และเป้าหมายในการพัฒนาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ เพื่อยกระดับประเทศให้กลับมาเป็นชาติมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าการควบคุมนโยบายและยุทธศาสตร์การสื่อสารแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ (Absolute Centralization) เป็นสิ่งจำเป็น และมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์ดังกล่าวก็ถูกท้าทายอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก การครอบงำทางทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชนจากโลกตะวันตก และปัจจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งมาสู่การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อ
โดยเฉพาะปัจจัยหลังคือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และสิ่งที่เรียกว่าโลกยุคเครือข่ายสังคม (Social Network) หรือในภาษาจีนคือ เซ่อเจียวหว่างลั่ว (社交网络) นั้นมีแรงกระแทกต่อสังคมและอุตสาหกรรมสื่อจีนอย่างรุนแรงไม่น้อยไปกว่าประเทศในโลกเสรีอื่นๆ หรือ อาจกล่าวได้ว่ารุนแรงยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ
หมายเหตุ :
[1] ระหว่างกระจกกับตะเกียง กุศโลบายสื่อศึกษา, บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ตุลาคม 2542, หน้า 6-7.
[2] บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา, อ้างแล้ว, หน้า 9.
[3] เจาะลึกสื่อจีน, วิภา อุตมฉันท์ และนิรันดร์ อุตมฉันท์, ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 92.
[4] China's Communist Party members grow to 80 mln, AFP, 23 Jun 2011.
[5] ตารางอันดับหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในโลก 100 อันดับแรกในปี 2008 (2008年世界日报发行量前100名排行榜)