xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกา: ‘ผู้นำ’หรือ‘คนป่วย’แห่งเอเชีย-แปซิฟิก? (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

America: The new sick man of Asia?
By Peter Lee
18/11/2011

จีนถูกกีดกันออกจาก “ข้อตกลงหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก”ซึ่งได้รับการป่าวร้องว่าเป็นความมุ่งมั่นไปสู่เขตการค้าเสรีอันใหญ่โตมหึมาแห่งอนาคต แต่กระนั้นผู้นำปักกิ่งก็ยังคงดูองอาจเก็บอาการและสามารถต้านรับการโบยตีจากสหรัฐฯ ขณะที่อเมริกาใช้ฐานะความเป็นเจ้าภาพเที่ยวโอ้อวดว่ามีหนทางแก้ไขปัญหาสำหรับอเชีย-แปซิฟิก อยู่ ณ การประชุมซัมมิตประจำปีของกลุ่มเอเปก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่มลรัฐฮาวาย อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่วอชิงตันกำลังพยายามบีบคั้นปักกิ่งให้ “เล่นตามกฎกติกา” และยินยอมปรับค่าเงินหยวนเสียใหม่ ตลอดจนเปิดตลาดแดนมังกรให้กว้างมากขึ้นอยู่นั้น ปัญหาของแดนอินทรีกลับอยู่ตรงคุณสมบัติของตนเอง โดยกำลังเป็นที่สงสัยข้องใจมากขึ้นทุกทีว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้นำในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ หรือเป็นเพียงผู้แพร่ความป่วยไข้ที่กำลังลุกลามอยู่ในจักรวรรดิของพวกเขากันแน่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนแรก *

คำขวัญสำคัญของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในการมาปรากฏตัว ณ การประชุมซัมมิตประจำปีของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC)ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ นครโฮโนลูลู , มลรัฐฮาวาย ก็คือ “สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจแปซิฟิก และเราจะอยู่ตรงนี้ต่อไป”

คำถามมีอยู่ว่า สหรัฐฯจะอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นผู้นำที่จะนำเอาหนทางแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและทางด้านความมั่นคงมาสู่แปซิฟิก หรือสหรัฐฯเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” (Sick Man of Asia) รายใหม่ ที่กำลังทำให้ทั่วทั้งภูมิภาคติดเชื้อความป่วยไข้ที่กำลังลุกลามอยู่ในจักรวรรดิของพวกเขากันแน่

ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปกคราวนี้ โอบามากำลังอยู่ในโหมด “ตะคอกใส่เต็มที่” โดยไล่จี้บอกกล่าวกับฝ่ายจีนว่า เศรษฐกิจของแดนมังกรนั้น “เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว” และถึงเวลาเสียที่ที่ปักกิ่งจะต้อง “ยุติกการเล่นเกมกับระบบ”

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ซึ่งยังคงดูองอาจภายใต้การโบยตีของฝ่ายอเมริกัน บางทีอาจจะกำลังพึมพำกับตัวเองว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นไม่สามารถที่จะ “เติบโต” ได้อีกต่อไปแล้วต่างหาก และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากจีน ทว่ากลับไม่สามารถพาตัวเองมาขอกับแดนมังกรได้

ที่ประชุมระดับผู้นำของเอเปกคราวนี้ ยังได้เห็นการโหมกระพือป่าวร้องความสำคัญของ “ข้อตกลงหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก” (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ซึ่งถูกมองว่าเป็น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Area หรือ NAFTA) เวอร์ชั่นสำหรับชาติเอเชีย โดยที่ชาติเหล่านี้จะเกาะกลุ่มกันอยู่รอบๆ สหรัฐอเมริกา (และก็จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ประชันกับยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกแล้วเข้าพิชิต” ของจีน ซึ่งมุ่งเน้นทำข้อตกลงการค้าเสรีกับชาติเอเชียเป็นรายประเทศ โดยผ่านการเจรจาระดับทวิภาคี) การป่าวร้องคราวนี้ดูจะยิ่งเอิกเกริกเพิ่มขึ้นอีก เมื่อนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ (Yoshihiko Noda) ของญี่ปุ่นประกาศว่า ประเทศของเขาจะเข้าร่วมการเจรจาเพื่อก่อตั้ง ทีพีพี ยุคใหม่ขึ้นมาด้วย

สำหรับจีนนั้นไม่ได้เข้าร่วมในทีพีพี เนื่องจาก “สโมสร” แห่งนี้ต้อนรับเฉพาะ “ชาติที่เล่นตามกฎกติกา” เท่านั้น

สำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (Associated Press หรือ AP) รายงานว่า ไมก์ โฟรแมน (Mike Froman) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้ช่วยในคณะบริหารของโอบามา และเป็นรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติด้านกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้แสดงบทบาทข้าราชสำนักผู้คอยเยาะหยันพวกไม่พึงปรารถนา

เอพีรายงานว่า (โฟรแมน) ได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า จีนไม่ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม พร้อมกันนั้นเขาก็กล่าวว่า กลุ่มทางการค้ากลุ่มนี้ “ไม่ใช่อะไรที่เที่ยวเชิญใครๆ มาเข้าร่วม แต่เป็นอะไรที่ประเทศนั้นต้องมีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะเข้าร่วม” [1]

โฟรแมนคนนี้ เป็นเพื่อนของประธานาธิบดีโอบามาตั้งแต่สมัยที่พวกเขาช่วยกันจัดทำวารสาร “ฮาร์วาร์ด ลอว์ รีวิว” (Harvard Law Review) เขาเป็นนักรวบรวมเงินบริจาคผู้กระตือรือร้น, เป็นศิษย์ของ ริชาร์ด รูบิน (Richard Rubin), และก่อนที่จะมาทำงานอยู่ในทำเนียบขาว เขาเป็นผู้อำนวยการจัดการคนหนึ่งของ ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup)

ดังนั้น จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราสามารถจินตนาการได้ว่า ฝ่ายจีนกำลังกลอกตาของพวกเขาจับจ้องไปที่อดีตลูกจ้างคนหนึ่งของซิตี้แบงก์ – สถาบันการเงินแห่งหนึ่งของสหรัฐฯที่ได้เล่น “ตามกฎกติกา” แห่งการบริหารผิดพลาดด้วยความไม่ซื่อสัตย์ และด้วยความประมาทเลินเล่อในทางการเงิน จนกระทั่งนำพาเศรษฐกิจทั่วโลกร่วงลงไปถึงปากขอบความล่มสลาย และแล้วสถาบันที่มี “ความใฝ่ฝันทะเยอทะยาน” (หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “การสิ้นเนื้อประดาตัว”) แห่งนี้ ก็ได้รับรางวัลตอบแทนด้วยการได้เข้าสู่โครงการ TARP อันเป็นกองทุนของรัฐบาลสหรัฐฯที่มุ่งช่วยเหลือสถาบันการเงินอเมริกันไม่ให้ต้องล้มละลาย

อดีตลูกจ้างของซิตี้แบงก์คนนี้แหละกำลังแสดงบทบาทหน้าที่เป็น “นายทวาร” ซึ่งคอยกีดกันจีน (ประเทศที่ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีขนาดมหึมายิ่ง จนกระทั่งได้รับยกย่องว่ามีบทบาทอันสำคัญมากในการช่วยชำระล้างความยุ่งเหยิงทั้งหลายที่มีจุดเริ่มต้นจากวอลล์สตรีท ตลอดจนมีความสำคัญในการประคับประคองโลกไม่ให้ลื่นไถลลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) ไม่ให้เข้าไปในสโมสรการค้าระดับซูเปอร์พิเศษสุดของอเมริกา

ปรากฏว่าบรรยากาศเช่นนี้กลายเป็นเรื่องที่ได้รับคำชมเชยจากสำนักแสดงความคิดเห็นด้านนโยบายการต่างประเทศของฝ่ายตะวันตก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มักให้รางวัลแก่การก่อกระแสโจมตีจีนของฝ่ายอเมริกัน ด้วยการยกย่องสรรเสริญอย่างชนิดไม่มีการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์อะไร พร้อมกับหยิบยกบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจอันมืดมัวของสหรัฐฯ มาเป็นข้อแก้ตัวให้แก่ถ้อยคำโวหารที่อาจจะเมีการเกินเลยไปของท่านประธานาธิบดี ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ประณามติเตียนปักกิ่งว่ากำลังทำตัวเป็นคนป่วยด้วยโรคหวาดระแวง เที่ยวเผยแพร่เรื่องกากๆ เกี่ยวกับการที่สหรัฐฯรวบรวมพันธมิตรทำ “การปิดล้อม” จีน

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าโอบามาอาจจะไปไกลมากเกิน ระหว่างที่เขาหยุดแวะที่ออสตรเลีย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมซัมมิตเอเปกที่ฮาวาย

เมื่ออยู่ในแดนจิงโจ้ เขาได้ไปวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งในเมืองดาร์วิน เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายของสหรัฐฯซึ่งถูกฝ่ายญี่ปุ่นโจมตีในปี 1942 จากนั้นเขากับนายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด ของออสเตรเลีย ก็ประกาศว่า ประเทศทั้งสองได้ตกลงกันแล้วเกี่ยวกับโครงการที่จะหมุนเวียนทหารเหล่านาวิกโยธินของสหรัฐฯจำนวน 2,500 คน ไปตามฐานทัพทหารของออสตรเลียแห่งต่างๆ ในดินแดนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (Northern Territory) ของแดนจิงโจ้ ทั้งนี้ ด้วยวิธีการเช่นนี้ย่อมเท่ากับการทำให้ทหารสหรัฐฯปรากฏตัวอยู่ในอาณาบริเวณนี้อย่างถาวรนั่นเอง

ไม่มีอะไรอื่นอีกแล้วที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันเรื่อง “การปิดล้อม” แดนมังกร ได้ดีเท่ากับการหยิบยกอ้างอิงอาชญากรรมในประวัติศาสตร์ของ “ภัยผิวเหลือง” (Yellow Peril) ตลอดจนการขนเอานาวิกโยธินจำนวน 2,500 คนเข้าไปยังดินแดนของออสเตรเลียที่อยู่ใกล้ชิดกับจีนมากที่สุดเช่นนี้

สิ่งเหล่านี้ดูเป็นการเกินเลยล้ำเส้นมากไป แม้กระทั่งในความเห็นของคอมเมนเตเตอร์ชาวตะวันตกบางคน

กระทั่ง แจ๊กกี้ คาล์มส์ (Jackie Calmes) แห่ง นิวยอร์ก ไทมส์ --แหล่งที่ไว้วางใจได้ในความเอื้ออารีต่อคณะรัฐบาลโอบามา-- ก็ยังพูดเป็นนัยว่า ฝ่ายจีนเป็นฝ่ายที่มีเหตุผลที่เกิดความรู้สึกระแวง ทั้งนี้เขาเขียนเอาไว้ดังนี้:

“สำหรับจีนแล้ว พัฒนาการหลายๆ อย่างในสัปดาห์นี้ สามารถบ่งบอกถึงการปิดล้อมในทางเศรษฐกิจและทางการทหาร พวกผู้นำระดับท็อปของแดนมังกรยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อคำปราศรัยของมิสเตอร์โอบามาในทันที แต่มิสเตอร์หลิว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้แล้วว่า เป็นสหรัฐอเมริกาต่างหาก ไม่ใช่จีน ที่กำลังแสวงหาทางใช้แสนยานุภาพทางทหารเพื่อส่งอิทธิพไปยังเหตุการณ์ต่างๆ ในเอเชีย

พวกนักวิเคราะห์พูดกันว่า ทางผู้นำจีนยังไม่ทันระวังตั้งตัวเลยเมื่อเผชิญกับสิ่งที่พวกเขามองว่า เป็นการรณรงค์ของอเมริกันเพื่อกวนความไม่พอใจในภูมิภาคแถบนี้ให้กระเพื่อมพลุ่งพล่าน พวกเขาบอกว่า จีนอาจจะคาดคำนวนผิดในระยะหลายๆ ปีหลังมานี้ จากการเที่ยวออกมาแถลงย้ำอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้ที่แดนมังกรได้เคยประกาศอ้างมานมนานแล้ว แต่พวกเขาก็โต้แย้งด้วยว่าปักกิ่งยังไม่ได้แสวงหาทางแผ่แสนยานุภาพทางทหารออกไปไกลเกินกว่าพื้นที่ชายฝั่งของตนเลย แถมยังยื่นข้อเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีกให้แก้ไขกรณีพิพาททางดินแดนทั้งหลายด้วยวิธีเจรจาตกลงกัน [2]

ทางด้านสำนักข่าวซินหวาของทางการแดนมังกร ได้เผยแพร่บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการเสนอเสียงตอบโต้ทางทางฝ่ายจีนนั่นเอง บทวิจารณ์ดังกล่าวใช้ชื่อเรื่องว่า “ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต้องการหุ้นส่วน ไม่ได้ต้องการผู้นำ และเดินเรื่องว่า “เป็นเรื่องยากที่จะวาดภาพจินตนาการได้ว่า “ความเป็นผู้นำ” ชนิดไหนกันที่สหรัฐฯใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏในภูมิภาคแถบนี้ แต่สิ่งที่ภูมิภาคนี้ต้องการอย่างแท้จริง –ในปัจจุบันขณะ-- คือหุ้นส่วนที่มีความเข้มแข็งและเชื่อถือพึ่งพาอาศัยได้ ซึ่งสามารถช่วยเหลือภูมิภาคนี้ในการขจัดพิษภัยของวิกฤตทางการเงินที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และในการแสวงหาหนทางสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลและอย่างยั่งยืน” [3]

ความหมายในระหว่างบรรทัดของบทวิจารณ์ชิ้นนี้ก็คือ “ความเป็นผู้นำ” ของสหรัฐฯในแปซิฟิก ในทุกวันนี้ได้กลายเป็นคำรหัสของคำว่า “การปิดล้อม” เสียแล้ว และสหรัฐฯกับโลกทั้งโลกจะต้องดีขึ้นไปกว่านี้อย่างแน่นอน ถ้าหากสหรัฐฯจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจโลก โดยที่จับมือกลายเป็นหุ้นส่วนกับจีน แทนที่จะพยายามปะผุซ่อมเล็กซ่อมน้อยเพื่อให้เกิดเป็นกลุ่มต่อต้านจีนที่ทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงและทั้งไม่เป็นผลดีในทางเศรษฐกิจขึ้นมา

มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันว่าลึกลงภายในความล้ำลึกแห่งหัวจิตหัวใจของเขา โอบามาก็เห็นพ้องกับเสียงวิจารณ์นี้ เกมใหญ่ในแปซิฟิกนั้นไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของภูมิภาคหรอก

ถ้าหากสหรัฐฯมีความวิตกและความสนใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการต่อรองตบตีกันระหว่าง หมีแพนดา กับ หมีโคอาลา บนชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลียแล้ว สหรัฐฯก็ไม่น่าที่จะส่งกำลังนาวิกโยธินนิดๆ หน่อยๆ เข้าไปในเมืองดาร์วิน แต่น่าที่จะก้าวรุกคืบขยับใกล้เข้าเส้นสีแดงอันตราย เป็นต้นว่า เรื่องเอกราชของทิเบตและไต้หวัน เพื่อเป๋ยกสนกระตุ้นปลุกระดมให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและทางความมั่นคงขึ้นภายในจีน ซึ่งจะสามารถส่งผลชักนำให้ปักกิ่งต้องถอยห่างออกจากความคิดที่จะออกเผชิญโลกในต่างแดนได้อย่างชะงัด ถึงแม้มันก็มีความเสี่ยงที่จะส่งให้เศรษฐกิจโลกจมดิ่งลงสู่ก้นภูเขาไฟ

เห็นได้ชัดเจนว่าคณะรัฐบาลโอบามาใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ไปข้องแวะกับ “ผลประโยชน์แกนกลาง” (core interests) ทั้งสองประการของจีนนี้ ซึ่งหากไปแตะต้องเข้ามันก็จะเป็นการยั่วยุกันอย่างแท้จริงแน่นอน

*หมายเหตุ*

1. Obama seeks Russia, China help on Iran, AP on Gazette Mail, Nov 12, 2011.

2. Obama Addresses Troops at Final Stop in Australia, New York Times, Nov 18, 2011.

3. Commentary: Asia-Pacific region needs a partner, not a leader, Xinhua, Nov 17, 2011.

ปีเตอร์ ลี เขียนบทความว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนความเกี่ยวพันของภูมิภาคเหล่านี้กับนโนบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
(อ่านต่อตอน 2 และตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น