เอเจนซีส์ - ผู้นำเอเชีย-แปซิฟิกประกาศส่งเสริมการเติบโตและลดกำแพงการค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ตลอดจนปกป้องตัวเองจากผลพวงวิกฤตหนี้ยูโรโซน พร้อมกันนี้ยังตกลงสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยการตั้งเป้าลดภาษีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2015
แถลงการณ์ปิดประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) เมื่อวันอาทิตย์ (13) ให้ความสำคัญอย่างชัดเจนกับวิกฤตหนี้ยูโรโซน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นความท้าทายที่จะเป็นความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในขาลง
“หากปราศจากหนทางแก้ไขวิกฤตยูโรโซน เศรษฐกิจโลกจะเผชิญแนวโน้มขาลงจากการพังทลายของความเชื่อมั่น การเติบโตที่อ่อนแอและการจ้างงานที่ลดต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ และเราทั้งหมดมีส่วนร่วมในการคลี่คลายวิกฤตนี้” คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในซัมมิตเอเปกคราวนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่นครโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งพยายามย้ำความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ เพื่อคานอิทธิพลของจีนที่ขยายครอบคลุมภูมิภาคแปซิฟิกในขณะนี้ ได้เรียกร้องพันธะสัญญาในการขยายโอกาสทางการค้าเพื่อใช้เป็นยาถอนพิษวิกฤตยุโรป
แถลงการณ์สุดท้ายของที่ประชุมระบุว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกไร้ความแน่นอน โดยที่การเติบโตและการจ้างงานอ่อนแอลงไม่เฉพาะจากวิกฤตยูโรโซนเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุจากภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น
"ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เรามุ่งมั่นมากขึ้นที่จะร่วมมือกันเพื่อก้าวไปข้างหน้า เราตระหนักว่าการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้ามีความสำคัญต่อการบรรลุการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกภายหลังภาวะถดถอยทั่วโลกในปี 2008-2009”
แถลงการณ์ยังระบุถึงการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและสมดุล ข้อความเช่นนี้ถือเป็นชัยชนะอย่างชัดเจนของวอชิงตัน ซึ่งต้องการความกังวลเกี่ยวกับภาวะการขาดดุลการค้ามหาศาลต่อจีนที่เป็นเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออก
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดจากแรงกดดันของสหรัฐฯ คือการตกลงส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดภาษีนำเข้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการคัดค้านของพญามังกร
ภายใต้ข้อตกลงนี้ สมาชิกเอเปกจะจัดทำบัญชีรายชื่อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมภายในปีหน้า และลดภาษีให้เหลือไม่เกิน 5% ก่อนสิ้นปี 2015 แถลงการณ์ยังตั้งเป้าลดปริมาณการใช้พลังงานเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจลงเหลือ 45% ภายในปี 2035
วอชิงตันนั้นกำหนดให้การค้าสินค้าสีเขียว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ในวาระที่สหรัฐฯ รับตำแหน่งประธานเอเปก เพื่อเป็นช่องทางกระตุ้นการจ้างงานและการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม
ทว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนค้านว่า เป้าหมายของสหรัฐฯตั้งไว้สูงเกินไปและเกินกว่าที่ประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินการได้ และนี่คือที่มาของแถลงการณ์ฉบับประนีประนอมที่ระบุว่า เอเปกจะลดภาษีโดยพิจารณาสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจประกอบไปด้วย
ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งเกี่ยวกับค่าเงินและการค้าที่สะท้อนให้เห็นจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น ยังคงปรากฏอยู่ เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าเหล่าผู้นำจะสามารถเปลี่ยนคำสัญญาเป็นการกระทำได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากผู้นำหลายคน ซึ่งรวมถึงตัวโอบามาเอง จะต้องเผชิญการต่อต้านในการเปิดตลาดรับการแข่งขันจากต่างชาติ
โอบานั้นประกาศว่า การมีส่วนร่วมของอเมริกาในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันกว่าครึ่งของเศรษฐกิจโลก ‘สำคัญอย่างยิ่ง’ ต่อความมั่งคั่งของแดนอินทรี
ด้วยการควบคุมศักยภาพการค้าที่ขยายออกไปกับภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในโลก ผู้นำสหรัฐฯ หวังว่าจะสามารถสร้างงานเพื่อช่วยผลักดันสู่ชัยชนะของโอบามาในการเลือกตั้งในปีหน้า
ทั้งนี้ การผลักดันของโอบามาสำหรับเขตการค้าเสรีแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของอเมริกาในซัมมิตเอเปกคราวนี้นั้น ได้แรงกระตุ้นสำคัญหลังจากแคนาดาและเม็กซิโกแสดงความสนใจร่วมเจรจาด้วย ซึ่งเมื่อนับรวมญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจเช่นเดียวกัน ข้อเสนอนี้จะครอบคลุมสมาชิกเอเปกรวม 12 ชาติ กล่าวคือ นอกจาก 3 ประเทศใหม่เหล่านี้ อีก 9 ชาติเดิมได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน ชิลี และเปรู หากบรรลุผล ทีพีพีจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่กว่าสหภาพยุโรปเสียอีก