รอยเตอร์ส - ภาคการผลิตจีนเดือนสิงหาคมหดตัวมากที่สุด ในรอบเก้าเดือน ตามการสำรวจยอดการส่งออกที่ลดลงและสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น อันเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาการเติบโตเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ไตรมาสที่เจ็ดแล้ว
สื่อต่างประเทศรายงาน วันที่ 23 ส.ค. ว่า เอชเอสบีซี โฮลดิงส์เผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีน ในเดือนส.ค. ตกลงมาอยู่ที่ 47.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ขณะเดือนก.ค. อยู่ที่ 49.3
รายงานข่าวกล่าวว่า ดัชนีตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 อย่างต่อเนื่องหลายเดือนดังกล่าว อยู่ในระดับที่ไม่ค่อยเห็นตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก พ.ศ. 2551 - 25552 จึงสร้างความความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงของจีน
ฉู่ หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีน ที่เอชเอสบีซี ในฮ่องกง กล่าวว่า ถ้าหากต้องการรักษาอัตราการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงตลาดแรงงานในภาพรวม รัฐบาลต้องรีบผ่อนคลายนโยบายการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคในเร็วๆ นี้
ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตในเดือน ก.ค. นี้ยังเป็นตัวเลขที่ตกลงมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552
มาคิต อีโคโนมิสต์ หน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้ทำรายงานสำรวจนี้ ยังระบุว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความคาดการณ์ โดยต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกัน 10 เดือน ซึ่งทำให้บรรดานักวิเคราห์และนักลงทุนทั้งหลายเริ่มมองไปยังรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ
จางจื่อเว่ย หัวนักนักเศรษฐศาสตร์จีน จากโนมูระ ในฮ่องกงเขียนไว้ในบันทึกให้กับลูกค้าเพิ่มว่า "ผลของการกระตุ้นนโยบายผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่อาจแสดงประสิทธิภาพในการประคับประคองเศรษฐกิจจีนในภาครวม และยังคงอยู่ในรอผลตอบสนองของโครงการฯ”
รายงานฯ ได้ระบุดัชนีการจ้างงานว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงนับแต่เดือนมิถุนายน และการลดลงของยอดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งประสบปัญหาหนี้ ทำให้เศรษฐกิจจีนตกอยู่ในภาวะกดดัน
ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า ตัวเลขส่งออกในเดือนก.ค. ขยายตัวเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยอดเงินกู้ใหม่ยังต่ำสุดในรอบ 10 เดือน อีกทั้งอัตราการผลิตภาคโรงงาน ก็ขยับขึ้นในระดับต่ำมากที่สุดในรอบสามปี รวมทั้งอำนาจการกำหนดราคาจางหายไป
อย่างไรก็ตาม รายงานฯ เผยว่า ระดับอัตราว่างงานยังไม่น่าวิตกเมื่อเทียบกับที่เคยเกิดในช่วงวิกฤติการเงิน 2551 และเชื่อว่าตัวเลขดัชนีภาคการผลิตระดับ 48 ยังเพียงพอที่จะรักษาการเติบโตของภาคแรงงานได้ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องรองรับบัณฑิตใหม่และแรงงานอพยพ รวมกันหลายล้านแต่ละปี
ในส่วนกระตุ้นการลงทุน รัฐบาลยังได้ลดจำนวนเงินทุนสำรองเพื่อการให้กู้ยืมของธนาคาร และช่วงสี่สัปดาห์ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมยังได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 2 รอบ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ก็ยังคาดว่า จะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้