xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันนิวยอร์กลง $1 - หุ้นสหรัฐฯ ปิดแคบ กังวล ศก.มะกันและจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ราคาน้ำมันวานนี้ (2) ขยับลงพอประมาณ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในจีนและตลาดจับตาผลกระทบต่อมาตการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านของอียู ขณะที่วอลล์สตรีทปิดในกรอบแคบๆ เท่านั้น หลังมีความกังวลต่อข้อมูลการผลิตที่หดดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีของอเมริกา

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 1.21 ดอลลาร์ ปิดที่ 83.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 46 เซ็นต์ ปิดที่ 97.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เมื่อวันศุกร์ (29) ราคาน้ำมันนิวยอร์กทะยานขึ้นกว่า 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังนักลงทุนตื่นเต้นต่อมาตรการแก้วิกฤตหนี้ของที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียู ส่งสัญญาณว่าอุปสงค์พลังงานน่าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยนี้ก็ดันให้น้ำมันตลาดลอนดอน ปิดบวกราว 6.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล “ราคาที่ตกลงในวันจันทร์ (2) ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลย หลังจากที่มันพุ่งขึ้นอย่างแรงในวันศุกร์” วิกตอร์ ชุม นักวิเคราะห์กล่าว

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันในวันจันทร์ (2) ยังถูกกัดเซาะจากข้อมูลดัชนีจัดซื้อของจีนที่หดตัวลงเมื่อเดือนที่แล้ว แม้รัฐบาลจะพยายามอย่างหนักในการเหนี่ยวรั้งภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจชาติผู้บริโภครายใหญ่ของโลกแห่งนี้

นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนยังจับตาผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านของสหภาพยุโรป ที่เริ่มบังคับใช้อย่างสมบูรณ์เมื่อวันอาทิตย์ (1) อันจุดชนวนขุ่นเคืองจากเตหะรานที่บอกว่ามาตรการนี้คืออุปสรรคขัดขวางการเจรจากับชาติมหาอำนาจเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อันอ่อนไหวของพวกเขา

ด้าน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้(2) ปิดในกรอบแคบๆ หลังข่าวหารหดตัวของกิจกรรมการผลิตในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบเดือบ 3 ปี ก่อความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจตกอยู่ในภาวะชะลอตัวทางอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับหลายชาติทั่วโลก

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 12.64 จุด (0.10 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 12,867.45 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 16.18 จุด (0.55 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,951.23 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 3.03 จุด (0.22 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,365.19 จุด

หลังจากขยับขึ้นไปในแดนบวกช่วงต้นของการซื้อขาย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็แกว่งตัวสู่แดนลบ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ระบุว่าดัชนีการผลิตในเดือนมิถุนายน ลดลง 49.7 จุดจาก 53.5 จุด ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งตัวเลขต่ำกว่า 50 จุดนี้ถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว และนับเป็นหดตัวของดัชนีภาคการผลิตเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2009
กำลังโหลดความคิดเห็น