ปี 2555 กลางฤดูร้อนของประเทศจีน ณ อาคารผู้โดยสารหมายเลข 3 สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง หลังจากแอร์ไชน่า ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน “ปักกิ่ง-ฉางชุน” เนื่องจากพายุฤดูร้อนเข้าถล่ม ผมกับพี่ๆ สื่อมวลชนไทยจึงต้องมารอคิวแท็กซี่เพื่อเดินทางเข้าไปหาที่พักในตัวเมืองชั่วคราว
“หนีห่าว!” ชายวัยกลางคนอายุอานามราว 45-50 ปีผู้หนึ่งกล่าวทักทายกับผม หลังเห็นคณะของเราสนทนากันเป็นภาษาต่างประเทศ
“เที่ยวบินยกเลิกเหมือนกันเหรอครับ”
“ครับ เที่ยวบิน CA1661 ที่จะไปฉางชุนยกเลิก เห็นเขาประกาศว่าเพราะมีพายุเข้า แม้ฝนจะไม่ตก แต่ฟ้าผ่าเยอะ ทางสนามบินเลยประกาศยกเลิกเที่ยวบินในประเทศเกือบหมด” ผมตอบ
“ไปฉางชุน ทำธุระอะไรเหรอครับ” เขาถามต่อด้วยน้ำเสียงอยากรู้
“ผมกับคณะสื่อมวลชนไทย ได้รับเชิญจากสมาคมนักข่าวจีนมาเยี่ยมชมกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนจีน ประมาณ 10 วันครับ เราจะไปฉางชุน มณฑลจี๋หลิน เพื่อเดินทางต่อไปยังฉางไป๋ซาน กับชายแดนเกาหลีเหนือ-รัสเซีย น่ะครับ”
“อ้อ! น่าสนใจมาก ผมแซ่จ้าว (赵) เป็นผู้จัดการทั่วไปบริษัทจีนที่ทำธุรกิจด้านชีวเคมีครับ” คุณจ้าวกล่าวแนะนำตัวพร้อมกับยื่นนามบัตรให้ และกล่าวต่อว่า “ผมเคยไปประเทศไทยหลายครั้งนะครับ ... ตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์ในพม่าจะเริ่มดีขึ้นหน่อยนะครับ แต่ในเกาหลีเหนือยังลูกผีลูกคนอยู่”
“ใช่ครับ ผมก็หวังว่าสถานการณ์ในพม่าจะดีขึ้น” ผมตอบ
“ในสายตาของผม เกาหลีเหนือคงอยู่อย่างนี้ได้ไม่นานหรอกครับ ถ้าไม่ปฏิรูปตัวเองอย่างเร่งด่วน” คุณจ้าวกล่าวถึงการเสียชีวิตของ “คิม จองอิล” ในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งนำมาสู่การถ่ายโอนอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารให้กับบุตรชาย “คิม จองอุน” ผู้นำประเทศในวัยยังเต็ม 30 ปีดี
การกระชับอำนาจของ “ราชวงศ์คิม” แห่งเกาหลีเหนือ หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีปรากฏภาพชัดเจนขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาเมื่อ มีการแต่งตั้ง คิม จองอุนให้เป็นจอมพล (Marshal) แห่งเกาหลีเหนือ พร้อมตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพประชาชนเกาหลี ซึ่งเคยเป็นตำแหน่งของบิดาและปู่ของเขามาก่อน
ก่อนหน้าเดินทางมายังกรุงปักกิ่ง ผมกับคณะสื่อมวลชนไทยได้มีโอกาสสนทนากับนักการทูตจีนหนึ่งในประเทศไทยถึงสถานการณ์ด้านการต่างประเทศ และความมั่นคงของภูมิภาคในทัศนะของจีน นักการทูตจีนท่านนั้นเปิดเผยกับเราว่า ในเวลานี้ นอกเหนือจาก ความกังวลเรื่อง “ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน (Encirclement of China)” ของสหรัฐอเมริกาที่ผู้นำทั้งประธานาธิบดีบารัก โอบามา และรัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน ต่างประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ ต้องการจะกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอีกครั้งแล้ว ประเด็นที่จีนค่อนข้างจะเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ “ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ความง่อนแง่นและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในพม่า อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และแน่นอนที่สุด เกาหลีเหนือ
สี่วันต่อมา ……
ณ หมู่บ้านรื่อกวง (日光村; หมู่บ้านแสงตะวัน) ตำบลเยี่ยว์ฉิง (月晴镇; ตำบลจันทร์กระจ่าง) ริมแม่น้ำชายฝั่งแม่น้ำถูเหมิน (图们江) จุดเล็กๆ จุดหนึ่งบริเวณพรมแดนจีน-เกาหลีเหนือซึ่งทอดยาวกว่า 1,416 กิโลเมตร ชาวบ้านกำลังขะมักเขม้นกับการล้างและแปรรูปปลาหมิงไท่ (明太鱼) หรือ ปลาอลาสกาพอลแลค ที่นำเข้ามาจากเกาหลีเหนือ
View Larger Map
“ปลาพวกนี้นำเข้ามาจากเกาหลีเหนือทั้งนั้นแหละครับ คนเกาหลีเหนือจับได้ในทะเลญี่ปุ่น แล้วขายให้กับรัฐบาล พ่อค้าจีนที่มีใบอนุญาตก็ข้ามแดนไปเหมาซื้อมาขายปลีกให้กับชาวบ้านจีนอีกที ขายเป็นตัว ตัวเล็กราคาประมาณ 10 หยวน ตัวใหญ่ขาย 15 หยวน วิธีรับประทานปลาหมิงไท่ส่วนใหญ่ของคนแถวนี้ก็คือ ย่างสด หรือไม่กินแบบตากแห้ง โดยก็ควักไส้ เอาเครื่องในออก ก่อนนำไปตากแห้งแล้วรับประทาน” ชาวบ้านคนหนึ่งให้ข้อมูล
“ปีนี้ได้ข่าวว่าชาวบ้านฝั่งโน้น (เกาหลีเหนือ) อดอยากมาก ปลาที่จับได้ก็ต้องขายให้กับทางการหมด ไม่มีโอกาสได้กินอย่างคนจีนฝั่งนี้หรอก ขณะที่ถ้าจะหนีข้ามแม่น้ำมาก็ลำบาก เพราะบริเวณริมแม่น้ำฝั่งโน้นทุก 100 เมตรจะมีป้อมเวรยามของทหารเกาหลีเหนือตั้งอยู่ ส่วนระหว่างกลางระหว่างป้อมตรงจุด 50 เมตรก็จะเป็นบังเกอร์แบบพราง” ชาวบ้านคนเดิมบอก
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวทางการเกาหลีเหนือ รวมถึงสำนักข่าวของจีนและเกาหลีใต้ต่างรายงานตรงกันว่า ปี 2555 นี้ คาบสมุทรเกาหลีทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างประสบกับสภาวะแห้งแล้งอย่างมาก โดยระดับความแห้งแล้งอาจถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษก็ได้ ส่งผลให้ประชากรของเกาหลีเหนือมากถึง 2 ใน 3 จากทั้งหมดราว 24 ล้านคนต้องเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนอาหาร ขณะที่ประชากรราว 3 ล้านคนประสบกับภาวะอดอยาก
วิดีโอคลิปรายงานข่าวปัญหาความแห้งแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบศตวรรษในเกาหลีเหนือ จากสำนักข่าวอัล-จาซีรา
ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และการอพยพหนีตายโดยหลั่งไหลมายังชายแดนจีนของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ เป็นปัญหาหนึ่งในสิ่งที่ทางการจีนกังวลที่สุด เช่นเดียวกับที่ทางการไทยเคยกังวลปัญหาของชนกลุ่มน้อยในประเทศเพื่อนบ้านที่หนีภัยการเมืองออกนอกประเทศ และเคยก่อปัญหาใหญ่มาแล้วในระดับโลก อย่างเช่นกรณีเรืออพยพของชาวโรฮิงญา หรือ ผู้อพยพชาวม้งลาว
“ในฤดูหนาว ถ้าน้ำในแม่น้ำจับตัวแข็ง เพราะอุณหภูมิที่นี่ในฤดูหนาวอาจต่อถึง ลบ 30 องศาเซลเซียส ก็มีจะชาวเกาหลีเหนือลักลอบเดินข้ามแม่น้ำหนีมายังฝั่งจีนบ้าง เนื่องจากแม่น้ำบางส่วนแคบนิดเดียว” เจ้าหน้าที่จีนบอกกับผม ทำเอาผมหวนนึกถึงรายงานข่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งชาวเกาหลีเหนือจำนวนไม่น้อยหลบหนีเข้าจีน บุกป่าฝ่าดงกว่า 6 พันกิโลเมตร ผ่านมายังประเทศไทยเข้ามายังบริเวณ อ.เชียงแสน และพื้นที่ใกล้เคียง
พี่กวี จงกิจถาวร นักข่าวอาวุโสที่เดินทางร่วมคณะสื่อมวลชนไปด้วยกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผมว่า ชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีผ่านจีนส่วนใหญ่นิยมเข้ามายังประเทศไทยก็เพราะคิดว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุด โดยเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วจะมีกลุ่มคริสตจักร 2-3 กลุ่มที่มีสาขาในสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้เข้ามาดูแลต่อ โดยกลุ่มคริสตจักรเหล่านี้จะมีเครือข่ายอยู่ในจีน เวียดนาม ลาว ไทย และมองโกเลีย เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือเหล่านี้ให้สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในที่สุด
...... ดังนั้น หากจะกล่าวว่าชาวเกาหลีเหนือเหล่านี้ยินยอมเดินทางนับหมื่นไมล์จากคาบสมุทรเกาหลี (ทางด้านเหนือ) เพื่อกลับไปยังคาบสมุทรเกาหลี (ทางด้านใต้) อีกครั้ง ก็คงไม่ผิดนัก
กลุ่มคริสตจักรเหล่านี้ ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือด้วยความเชื่อที่ว่า หากมีผู้อพยพเดินทางหลั่งไหลออกมาจากเกาหลีเหนือแบบไม่หยุด ก็จะทำให้ “ราชวงศ์คิม” แห่งเกาหลีเหนือล่มสลายลงในที่สุด
ในมุมของชาวเกาหลีใต้ หรือ สหรัฐฯ ความล่มสลายลงของระบบการปกครองแบบเผด็จการในเกาหลีเหนืออาจถือเป็น “ความสำเร็จขั้นสูงสุด” แต่สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนแล้ว ความล่มสลายของ “ราชวงศ์คิม” ต้องนับว่าเป็น “หายนะ” ทั้งทางด้านความมั่นคงของประเทศจีนเอง ทั้งปัญหาการหลั่งไหลของผู้อพยพ ปัญหาการแก่งแย่งอำนาจภายใน และการก้าวเข้ามาแทรกแซงเรื่องราวของคาบสมุทรเกาหลีโดยชาติต่างๆ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รุ่นปู่-คิม อิลซุง รุ่นพ่อ-คิม จองอิล มาถึงรุ่นลูก-คิม จองอุน รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุน อุ้มชู รวมถึงเป็นตัวกลางประนีประนอมปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และรัสเซียอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การผลักดันและเป็นเจ้าภาพให้มีการเจรจา 6 ฝ่าย (Six-Party Talks) อันประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รัสเซีย และจีน เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีโดยสันติ โดยการเจรจา 6 ฝ่ายดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 ทว่า ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปจนถึงปัจจุบัน
ทางเศรษฐกิจ ในปี 2554 สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) ระบุว่า เกาหลีเหนือมีตัวเลขการส่งออกและนำเข้า (ไม่รวมการค้ากับเกาหลีใต้) ราว 6,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 189,600 ล้านบาท) โดยจีนถือเป็นผู้สนับสนุนทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือ
สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเกาหลีเหนือประกอบไปด้วย แร่ต่างๆ เช่น เหล็ก, แกรไฟต์, ทองแดง, ตะกั่ว, สิ่งทอ, สินค้าเกษตรและประมง, ถ่านหิน เป็นต้น โดยกว่าร้อยละ 89.1 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5,630 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของสินค้าส่งออกของเกาหลีเหนือถูกรับซื้อโดยจีน ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ซื้อสินค้าจากเกาหลีเหนือรองลงไปจากจีน คือรัสเซีย เยอรมนี และอินเดีย [1]
เจ้าหน้าที่จาก KOTRA เปิดเผยด้วยว่า สาเหตุที่ในปีที่แล้ว เกาหลีเหนือกระตุ้นตัวเลขการส่งออกไปยังจีนให้เพิ่มขึ้นมากก็เพราะว่า ผลกระทบจากการทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือทำให้การลงทุนและการค้ากับต่างประเทศชะงักงัน ขณะที่ในปีนี้ (2555) เกาหลีเหนือก็มีงานใหญ่คือ งานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของ คิม อิลซุง บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ จึงทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือมีความต้องการเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อเป็นทุนในการจัดงานดังกล่าว
“คุณเห็นว่าผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่เป็นยังไง จะนำพาประเทศไปรอดไหม?” ผมหันไปถามชาวจีนคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางมากับคณะของเราด้วย
“ไม่รู้เหมือนกัน เป็นคำถามที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ที่เราจะตอบได้” เขาตอบด้วยประโยคคลาสสิก ตามประสาเจ้าหน้าที่ และข้ารัฐการจีน
ชายแดนเกาหลีเหนือจากฝั่งเมืองถูเหมิน มณฑลจี๋หลิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีแม่น้ำถูเหมินกั้นกลาง
หมายเหตุ :
[1] 日媒:中朝贸易额占朝鲜对外贸易总额九成