เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ที่เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขานครฉงชิ่ง อาสาขอเดินทางไปจีนแล้ว เพื่อช่วยในการสืบสวนสอบสวนคดีอื้อฉาวทางการเมืองครั้งมโหฬารที่สุดในรอบหลายทศวรรษของแดนมังกร
นายปาทริ๊ก เดอวีเล่ร์ ถูกตำรวจกัมพูชาจับกุมในกรุงพนมเปญเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ตามการร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของทางการจีน และมีการปล่อยตัวเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ค.) จากนั้นในวันถัดมา สถาปนิกแดนน้ำหอมผู้นี้ได้ขึ้นเครื่องบินโดยสารไปนครเซี่ยงไฮ้ "ด้วยความสมัครใจ" จากการเปิดเผยของนาย ซ็อก ผล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของกัมพูชา โดยทางการจีนได้ขอให้ปล่อยตัวนายเดอวีเล่ร์ ซึ่งระบุว่า เขาต้องการไปให้การเป็นพยาน และสถานทูตฝรั่งเศสก็สนับสนุนความตั้งใจของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์
ขณะที่นายเขียว กัณหฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาระบุว่า นายเดอวีเล่ร์ไปจีนด้วย"ความสมัครใจ " หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้ว" และรัฐบาลปักกิ่งให้คำรับรองว่า จะอนุญาตให้ชายผู้นี้เดินทางกลับกัมพูชาภายใน 60 วัน ถ้าไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้น
"ดังนั้น เราจึงกำลังรอดูคำมั่นสัญญาของจีน" นายเขียว กัณหฤทธิ์ระบุ
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสกล่าวว่า สถานทูตของฝรั่งเศสในกรุงปักกิ่งจะยังคงให้ความคุ้มครองดูแลนายเดอวีเล่ร์ต่อไป
ที่ผ่านมา บทบาทของชายวัย 52 ปีในคดีอื้อฉาวของนายปั๋วยังคงคลุมเครือ โดยเชื่อกันว่าเขาเป็นเพื่อนทำธุรกิจ ที่สนิทสนมกับนายปั๋วและภรรยาคือนางกู่ ไคไหล ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาฆ่านายนีล เฮย์วูด นักธุรกิจชาวอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว และคดีของนางกู่ถูกสืบสาวราวเรื่องโยงใย จนนำไปสู่คำสั่งปลดนายปั๋วจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขานครฉงชิ่งและจากตำแหน่งสำคัญภายในพรรค โดยนายปั๋วถูกควบคุมตัวสวนดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในขณะนี้
คดีอื้อฉาวของนายปั๋วแดงโร่ขึ้นเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา และก่อให้เกิดการแบ่งแยกร้าวลึกระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ก่อนหน้าจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ อันเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพื่อถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้นำรุ่นต่อไป ซึ่งเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 10 ปี
เชื่อกันว่า นายเดอวีเล่ร์พบปะกับสามีภรรยาคู่นี้ครั้งแรกในช่วงราวปี 2533-2543 โดยนายปั๋วว่าจ้างเขาทำงานในโครงการก่อสร้างในเมืองต้าเหลียน นอกจากนั้น จากรายงานของสื่อมวลชนยังระบุว่า นายเดอวีเล่ร์ยังเคยก่อตั้งบริษัทร่วมกับนางกู่ในอังกฤษเมื่อปี 2543 อีกด้วย
หลังจากหย่าขาดกับภรรยา ซึ่งมีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่ง นายเดอวีเล่ร์ก็ได้มาตั้งรกรากอยู่ในกัมพูชาเมื่อ 5 ปีก่อน โดยใช้ชีวิตธรรมดา ๆ ไม่โดดเด่นอะไร