เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ทยอยกันมาเรื่อย ๆ สำหรับการออกมาเล่าเรื่องราวความทรงจำของพวกอดีตผู้นำแดนมังกร และตีพิมพ์เป็นหนังสือจำหน่าย อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง อดีตนายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อหยาง หรืออดีตนายกรัฐมนตรีจู หรงจีผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นซาร์แห่งเศรษฐกิจจีน
เรื่องราวของแต่ละคน เมื่อนำมาปะติดปะต่อกันก็ราวกับว่ากำลังดูงิ้วโรงใหญ่ของชนชั้นผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ล้วนแล้วแต่เป็นการสะท้อนถึงการแก่งแย่งอำนาจ ชิงดีชิงเด่น และการกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้ความละอายใจ
ล่าสุด คือการออกมาตีแผ่ของนายเฉิน ซีถง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขากรุงปักกิ่ง และกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo member) ซึ่งครั้งหนึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ทรงอำนาจคับฟ้าที่สุดคนหนึ่งของจีน ขณะนี้เขาอายุ 81 ปีแล้ว และในบั้นปลายชีวิต ที่ตกอับ ไร้วาสนากำลังนอนป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นสุดท้าย
นายเฉินถูกปลดจากตำแหน่งและถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นเมื่อ 16 ปีก่อน ซึ่งเขาระบุว่า เป็นความอยุติธรรมครั้งใหญ่หลวงที่สุด นับตั้งแต่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมมา
นายเฉินยังคงต่อสู้เพื่อล้างมลทินให้กับตนเอง เรื่องราวของเขาอยู่ในหนังสือชื่อว่า “Conversations With Chen Xiong” หรือ “การสนทนากับเฉิน ซีถง” เรียบเรียงโดยนักวิชาการ นามว่า เหยา เจียนฟู่
นายเฉินได้พูดเปรยเป็นครั้งแรกในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งมีขึ้นระหว่างเดือนมกราคม 2554 - เมษายน 2555 ว่า เขาถูกกำจัดด้วยน้ำมือของเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีจีนในเวลานั้น
นายเฉินบอกว่า เขาได้เปิดเผยความคับแค้นใจในหนังสือเล่มนี้ เพราะทางการเมินเฉยต่อคำร้องขอให้พิจารณาทบทวนการตัดสินความผิดของเขา
“ ผมหวังเสมอว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้ให้ถูกต้อง แต่คนเหล่านั้นก็ทำให้เห็นแล้วว่า มีความดื้อด้านมาก” นายเฉินระบุ
“ ผมไม่มีทางเลือก นอกจากต้องพูดออกมา เพื่อปกป้องความจริง และมันก็สอดคล้องกับหลักการของพรรค หากศาลประชาชนสูงสุดมิอาจพลิกคดีของผมได้แล้ว คำกล่าวอ้างเรื่องความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมก็เป็นคำโกหก”
นายเฉินถูกศาลพิพากษาความผิดฐานรับสินบนจำนวน 550,000 หยวน และยักยอกเงินของรัฐไปสร้างบ้านพักตากอากาศหรูตามที่ทางการระบุ เขาถูกตัดสินจำคุก 16 ปี โดยถูกส่งไปยังเรือนจำฉินเฉิงในกรุงปักกิ่ง นายเฉินถูกจองจำเรื่อยมา จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวด้วยเงื่อนไขต้องเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลในปี 2549
ในฐานะนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งระหว่างเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือด 4 มิถุนายน นายเฉินถูกมองกันว่าเป็นหัวหน้า “ก๊กปักกิ่ง’ ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ “ก๊กเซี่ยงไฮ้” ของนายเจียง แต่นายเฉินกล่าวว่า เขาไม่เคยคิดชิงอำนาจกับประธานาธิบดีเจียง มีแต่จะสนับสนุนและให้ความเคารพ
มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าความหายนะของนายเฉิน มีนายปั๋ว อี้ปัว นักปฏิวัติ และหนึ่งใน “แปดเซียน” แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาเกี่ยวข้อง นายปั๋ว อี้ปัวผู้นี้ก็คือบิดาของนายปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคประจำนครฉงชิ่งนั่นเอง โดยว่ากันว่า นายเฉินได้ส่งจดหมายถึงท่านผู้นำสุงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง ร้องเรียนเกี่ยวกับประธานาธิบดีเจียง และนายปั๋วได้คาบเรื่องนี้ไปบอกกับประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม นายเฉินระบุว่า เป็นข่าวลือเพื่อให้ร้ายทั้งเขาและนายปั๋วเท่านั้นเอง
นายเฉินเล่าต่อไปว่า เขาถูกตั้งข้อหารับสินบน ซึ่งมาจากคำสั่งของประธานาธิบดีเจียง ผู้ที่นายเฉินระบุว่า บ้าอำนาจ หลังจากนายเฉินได้โอนของขวัญ ที่เขาได้รับจากแขกผู้ทรงเกียรติต่างชาติในโอกาสต่าง ๆ แก่โรงละครศิลปะแห่งประชาชนปักกิ่ง (BPAT) อันเป็นทางหนึ่งในการหาทุนให้แก่โรงละคร
“ วันหนึ่งเจียงไปตรวจโรงละคร และทราบว่า ทางโรงละครกำลังขาดแคลนเงินทุน” นายเฉินเล่า
นอกจากการโอนของขวัญเหล่านั้นแล้ว นายเฉินยังดินทางไปยังฮ่องกง เพื่อระดมเงินบริจาคจากพวกมหาเศรษฐีนักธุรกิจ ให้ได้ 100 ล้านหยวน เพื่อตั้งกองทุนสำหรับพัฒนาโรงละคร
ทว่าการกระทำเหล่านี้กลับกลายเป็นกับดัก ที่ล่อเหยื่ออย่างเขามาติดเท่านั้นเอง
นายเฉินปฏิเสธไม่รับเงินเบี้ยเลี้ยงในคุก ซึ่งทางการจ่ายให้เดือนละ 3,500 หยวน โดยไม่กลัวว่าใครจะมองว่า นี่ไงล่ะคือการยอมรับความผิดตามคำพิพากษา
นายเฉินกล่าวความทุกข์ทรมาน ที่เขาได้รับนั้น มันมากมายยิ่งกว่าที่อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อย่างนายหู เย่าปัง และนายเจ้า จื่อหยัง เคยได้รับ เมื่อถูกปลดจากตำแหน่งในช่วงทศวรรษ 1980 และหลุดจากการเป็นคนโปรดของท่านผู้นำสูงสุดเติ้ง
“หากเทียบกับคนทั้งสองแล้ว ผมมันก็แค่คนตัวเล็ก ๆ ไม่สลักสำคัญอะไร”
“แต่ความอยุติธรรมและความเสื่อมเสีย ที่ผมได้รับนั้นสิ มันหนักหนากว่ามากนัก” นายเฉินกล่าว
ยังมีรายละเอียด ที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกให้คุณติดตามได้ในหนังสือเล่มนี้ โปรดอดใจรออีกไม่นาน